นักสิทธิมนุษยชน ขอของขวัญวันเด็ก หยุดความรุนแรงต่อเด็กในโรงเรียน หลังพบสถิติครูทำร้ายนักเรียน ถึงร้อยละ 70 ให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง

วันที่ 9 ม.ค.2567 นายสุรพงษ์ กองจันทึก นักสิทธิมนุษยชน ประธานมูลนิธิช่วยเหลือทางสังคมเพื่อเด็กและสตรี วอนรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ หยุดความรุนแรงในโรงเรียนเป็นของขวัญเด็กนักเรียน ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า วันเสาร์ที่จะถึงของสัปดาห์นี้ เป็นวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งทุกคนทราบดีว่า เด็กคืออนาคตของมนุษยชาติและสังคม ผู้ที่มีหน้าที่ในการพัฒนาเด็กที่สำคัญคือครูอาจารย์ในสถานศึกษา แต่ข่าวการใช้ความรุนแรงเฆี่ยนตีเด็กโดยครูอาจารย์ในโรงเรียน ยังมีอยู่ตลอด

ปลายปีที่ผ่านมามีข่าวเด็กนักเรียนชั้น ป.5 อายุ 11 ปี โรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่จ.บุรีรัมย์ ถูกครูตี 70 ครั้ง อ้างว่าเด็กทำการบ้านไม่เสร็จที่ให้ไว้ในช่วงปิดเทอมจากทั้งหมด 107 ข้อ ทำได้เพียง 37 ข้อเหลือ 70 ข้อ จึงถูกตีถึง 70 ที

ก่อนหน้านั้นมีข่าวเด็กอายุเพียง 2 ขวบ ถูกครูที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจ.ร้อยเอ็ด ทุบตีลูกชายด้วยถาดข้าวที่เป็นเหล็ก จนร่างกายมีบาดแผลฟกช้ำ

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า จากผลการสำรวจของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ในปี 2563 พบว่า เด็กนักเรียนเคยถูกลงโทษทางร่างกายด้วยวิธีรุนแรงในโรงเรียน ถึงร้อยละ 64 และถ้าคิดเฉพาะโรงเรียนในต่างจังหวัด ไม่รวมกรุงเทพฯ พบได้ถึงร้อยละ 70 เมื่อเป็นข่าวครูผู้กระทำความรุนแรงต่อเด็กมักออกมาชี้แจงว่า ทำไปด้วยความปรารถนาดีต่อเด็ก และสถานศึกษาก็มักจะปกปิดเรื่องเหล่านี้ด้วยเห็นว่าทำให้โรงเรียนเสียภาพพจน์

การตีเด็กนักเรียนเป็นวิธีการลงโทษเด็กนักเรียนแต่สมัยก่อน โดยให้เฆี่ยนด้วยไม้เรียว เหลากลม ผิวเรียบ เส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 0.7 ซม. ที่บริเวณก้นหรือขาอ่อนท่อนบนด้านหลัง ซึ่งมีเครื่องแต่งกายรับรอง กำหนดการเฆี่ยนไม่เกิน 6 ที การเฆี่ยนต้องทำในที่ไม่เปิดเผย และในลักษณะเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนให้เข็ดหลาบ แต่ถูกยกเลิกปิดตำนานไม้เรียวและการลงโทษด้วยความรุนแรงตั้งแต่ปี 2543

นายสุรพงษ์กล่าวว่า ต่อมา พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กำหนดไว้ว่า ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำ อันเป็นการทำทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก และให้ออกระเบียบการลงโทษนักเรียนเท่าที่สมควร กระทรวงศึกษาธิการจึงออกระเบียบว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 ห้ามลงโทษนักเรียนและนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้ง หรือลงโทษด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท

โดยคำนึงถึงอายุนักเรียนหรือนักศึกษา และความร้ายแรงของพฤติการณ์ประกอบการลงโทษด้วย การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาให้เป็นไปเพื่อเจตนาที่จะแก้นิสัย และความประพฤติไม่ดีของนักเรียนหรือนักศึกษาให้รู้สำนึกในความผิด และกลับประพฤติตนในทางที่ดีต่อไป ทั้งกำหนดให้การลงโทษนักเรียนทำได้เพียงมี 4 สถาน คือ

1.ว่ากล่าวตักเตือน

2.ทำทัณฑ์บน

3. ตัดคะแนนความประพฤติ

4.ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

นายสุรพงษ์กล่าวว่า แม้จะมีระเบียบออกมานานแล้ว แต่จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า มีครูถึง 5% ไม่ทราบว่ามีระเบียบนี้ และจากการสำรวจขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาติ (UNICEF) ในปี 2556 พบว่า มีครู 42% เห็นว่าการลงโทษที่ไม่รุนแรง ไม่ส่งผลต่อเด็ก และ ครูถึง 62% เห็นว่าการลงโทษที่รุนแรงไม่ละเมิดสิทธิเด็ก

ความรู้และทัศนะของครูดังกล่าว ทำให้ยังมีความรุนแรงในโรงเรียนตลอดมา ทั้งที่การเฆี่ยน การตี ในปัจจุบัน ถูกมองว่าเป็นการกระทำความรุนแรง เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม และยังความผิดทางกฎหมายอาญาฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ

ซึ่งนักเรียนรวมทั้งผู้ปกครองสามารถร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีได้ ทั้งยังมีความผิดทางวินัยด้วย นอกจากนี้ยังเป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณวิชาชีพครู ที่มีผลให้ถูกเพิกถอนหรือพักการใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูอีกด้วย

นายสุรพงษ์ เรียกร้องว่า ขอให้รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการกับปัญหานี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่ชี้แจงว่าได้กำชับไปแล้ว หากต้องมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ เพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัยอย่างแท้จริงสำหรับเด็ก

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน