แม่น้ำโขงกำลังป่วย นักธรรมชาติวิทยา เดินเท้าพัน กม. รณรงค์ร่วมเยียวยา ชวนเรียนรู้-สร้างความเข้าใจ เผยต้อนรับอบอุ่น ชาวประมงอุ่นใจคนรุ่นใหม่ใส่ใจสายน้ำ

วันที่ 16 ม.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเพจ Mekong Walk เดินโขง ของ “บาส” นายปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา นักธรรมชาติวิทยา โพสต์ข้อความเรื่องการเดินเท้าเพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจต่อแม่น้ำโขง โดยเริ่มออกเดินทางเมื่อวันที่ 15 ม.ค. เนื้อหาในเพจระบุว่า

”สวัสดีครับ บาสนะครับ ตอนนี้ผมอยู่ที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ที่นี่คือจุดเริ่มต้นของการเดินทางระยะไกลริมแม่น้ำโขง สู่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ระยะทางราว 1,000 กิโลเมตรครับ การเดินนี้เกิดขึ้นเพราะผมติดตามสถานการณ์และสุขภาพของโขง รวมถึงผู้คนริมโขงอยู่บ้าง

ทำให้รู้ว่าหลายอย่างกำลังเจ็บป่วย และผมอยากมีส่วนร่วมกับการดูแลโขงครับ ผมเลยทำสิ่งที่ผมทำได้ นั่นคือการใช้เท้าสองข้างออกเดิน นี่น่าจะเป็นสิ่งพื้นฐานที่สุดที่ผมคิดออกและทำได้ เพื่อให้ผมรู้จักและก่อสายสัมพันธ์กับแม่น้ำโขง กับผู้คน ตลอดจนสรรพสิ่งต่างๆ ในแม่น้ำโขง ช่วงที่ไหลผ่านดินแดนอีสานมากขึ้น เพื่อพบปะ ‘ความหวัง’ ครับ

“ผมออกเดินครั้งนี้คนเดียวครับ แต่ไม่ได้หมายความว่าผมจะเดินเพียงลำพัง ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมกับการเดินนี้ได้ในรูปแบบต่างๆกัน อย่างง่ายที่สุดคือการติดตามสิ่งต่างๆ ที่เผยแพร่ในที่นี้ หรือแบบมันๆ คือมาเดินด้วยกันริมโขง

ซึ่งผมจะอัพเดตเส้นทางเป็นระยะๆ นะครับ อย่างที่กำลังเขียนโพสต์แรกนี้ ก็มีมิตรสหายและพี่น้องริมโขงเข้ามามีส่วนร่วมสร้างสรรค์การเดินด้วยกัน ผมออกเดินคนเดียว แต่จะไม่จบลำพัง ขอฝากติดตามด้วยนะครับ” เพจเดินโขงระบุ

ทั้งนี้โพสต์ดังกล่าวมีผู้แชร์จำนวนมาก พร้อมทั้งให้ความเห็นและกำลังใจ อาทิ ถึงเขตตำบลบ้านม่วงแวะนอนสักคืนนะครับ ,รอติดตามเส้นทางเดินนะคะ จะหาโอกาสแวะไปเดินด้วยบางช่วงค่ะ ,ขอร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันเบื้องต้นส่งกำลังใจให้ก่อนเลยนะครับ ,เคยตั้งใจจะปั่นจักรยานเลียบริมโขงตามแนวเขตประเทศไทยโขงเจียมถึงเชียงแสนตอนนี้ยังขาดช่วงนครพนม-หนองคายแต่ปั่นจักรยานไม่ไหวแล้ว ขอให้ราบรื่นปลอดภัยตลอดเส้นทางนะครับ ,ดีใจมากๆ เลยที่มีคนมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงแล้วลุกขึ้นมาทำกิจกรรมสร้างสรรค์แบบนี้








Advertisement

ทั้งนี้ นายปรมินทร์ เคยทำโครงการ Ari Ecowalk ที่ย่านอารีย์ กรุงเทพมหานคร เพื่อให้คนเมืองมีพื้นที่ในการเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว และตระหนักว่าเมืองไม่ได้มีแค่ตึกรามบ้านช่อง อาคารสูงๆ หรือห้างสรรพสินค้าใหญ่โตเท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่ธรรมชาติแอบซ่อนอยู่

นายปรมินทร์ ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินเท้ามาแล้วกว่า 1 วันว่า ขณะนี้กำลังเดินเข้าแก่งคุดคู้ อ.เชียงคาน โดยตลอดทางได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจนรู้สึกแปลกใจ

ขณะที่ นายชาญณรงค์ วงศ์วงลา ผู้ประสานงานกลุ่มฮักเชียงคาน และกลุ่มประมงพื้นบ้าน อ.เชียงคาน จ.เลย กล่าวว่า รู้สึกดีใจมีคนรุ่นใหม่ คนข้างนอกพื้นที่มาให้ความสนใจแม่น้ำโขง ในฐานะคนพื้นที่ รู้สึกอยากให้เรื่องราวของแม่น้ำโขงเป็นเรื่องของทุกคนเพราะที่ผ่านมาแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก

โดยเฉพาะระบบนิเวศที่เสียหายจากโครงการพัฒนา โดยเฉพาะเขื่อน ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐยังไม่ได้ให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหา มีแต่ประชาชนและเครือข่ายชุมชนที่พยายามร่วมกัน

“ปลาแม่น้ำโขงลดลงอย่างมากตั้งแต่มีเขื่อน กลุ่มประมงเชียงคานจะมีคณะมาดูงาน 200 คน แต่เราหาปลามาทำอาหารเลี้ยงไม่ได้เลย ต้องสั่งซื้อมาจากนครพนม แม่น้ำโขงกำลังเจ็บป่วยจริงๆ” นายชาญณรงค์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน