‘รมว.เพิ่มพูน.’ แจงยกเลิกครูเวร ประสาน สตช.-มท. จัดเจ้าหน้าที่เข้าตรวจตราถี่ขึ้น เดินหน้าของบจ้างนักการ ภารโรง เล็งหารือติดกล้องวงจรปิดในโรงเรียน

24 ม.ค. 67 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารศธ. ว่า ที่ประชุมได้หารือ กรณีคระรัฐมนตรี (ครม.) มีมติยกเว้นการอยู่เวรของครูในสังกัดศธ. ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัดทั่วประเทศ รวมถึงสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ

ทั้งนี้จากข้อมูลแม้จะมีกล้องวงจรปิด ก็ไม่สามารถป้องกันเหตุร้ายได้ ดังนั้นการให้ครูอยู่เวรนอกราชการ ก็ถือว่ามีความสุ่มเสี่ยง ซึ่ง ครม.ได้พิจารณาถึงความเสียหายในชีวิตและร่างกายเป็นสำคัญ ที่จะต้องพยายามรักษาป้องกันไม่ให้เกิดภัยต่อชีวิตและร่างกายของครู

ซึ่งมีภาระงานในการสอนหนังสือ ทั้งนี้หลังยกเลิกมติดังกล่าว ครม. ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) และฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย(มท.) เข้ามาช่วยดูแล

ส่วนที่มีกระแสว่า เป็นการเพิ่มภาระให้ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะเป็นหน้าที่หลัก ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และฝ่ายปกครองอยู่แล้วในการดูแลความสงบเรียบร้อย เช่น ธนาคาร ร้านทอง ที่ต้องมีเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยดูแลเป็นพิเศษ เพียงแต่อาจจะเพิ่มจุดเน้นเข้ามา ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลในเรื่องการดูแลความปลอดภัยของสถานที่

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวต่อว่า ในส่วนของศธ. ก็ได้มีหนังสือ ประสานไปที่ สตช. และมท. เรียบร้อยแล้ว เพื่อบูรณาการดูแลความปลอดภัย ส่วนในระดับจังหวัด ก็ได้มอบหมายให้ สำนักปลัดศธ. แจ้งให้ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ประสานงานกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ในการเข้ามาดูแล อย่างไรก็ตาม การประสานงานดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินงานมีความรวดเร็วขึ้น ทั้งในระดับ ส่วนกลาง และพื้นที่

“ขณะที่ในส่วนของสถานศึกษา ก็ได้สั่งการให้มีการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา โดยมีการเชิญ ตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาหารือ มาตรการป้องกันความปลอดภัยให้กับสถานที่ราชการ เพื่อเป็นการรองรับมติดังกล่าว ส่วนเรื่องการอยู่เวร เมื่อครม.มีมติดังกล่าวออกมาแล้ว ครูที่ไม่อยู่เวรก็ถือว่าไม่มีความผิดทางวินัย เพราะได้รับการยกเว้นแล้ว จากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็จะต้องไปปรับแก้ระเบียบต่างๆ เพื่อรองรับมติครม.

ทั้งนี้หากครูจะมาทำงานที่โรงเรียนนอกเวลาราชการ ก็ให้เป็นไปตามความสมัครใจ โดยขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยส่วนบุคคลด้วย เช่น เข้ามาในห้องทำงานแล้ว ก็ควรล็อกประตูให้เรียบร้อย มีเพื่อนมาอยู่ด้วย เพราะเราห่วงเรื่องความปลอดภัยในชีวิต ซึ่งไม่มีสิ่งที่จะมาทดแทนได้ ไม่เหมือนความเสียหายต่อทรัพย์สิน ที่บางทียังหาทดแทนได้ อยากให้ประชาชนได้เข้าใจ” พล.ต.อ.เพิ่มพูน

รัฐมนตรีว่าการศธ. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้มติดังกล่าว มีผลในทางปฏิบัติทันที โดยที่ผ่านมาได้มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลความปลอดภัยในสถานศึกษาอยู่แล้ว แต่เมื่อมีมติครม. เป็นสภาพบังคับหน่วยงานที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศก็จะต้องดำเนินการด้วยความเข้มข้นมากขึ้น

นอกจากนี้ จะมีการสำรวจโรงเรียนทั่วประเทศว่า มีกล้องวงจรปิดกี่แห่ง ส่วนจะต้องเพิ่มกล้องวงจรปิดให้กับโรงเรียนที่ยังไม่มีหรือไม่นั้น ต้องหารือร่วมกับอีกครั้ง เพราะแม้จะมีกล้องวงจรปิดการมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดูแลก็เป็นสิ่งสำคัญ ช่วยป้องกันไม่ให้เหตุร้ายเกิดขึ้น

ขณะที่บางโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต การมีกล้องวงจรปิดก็อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็น การดำเนินการดังกล่าว จะเป็นลักษณะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปตรวจเยี่ยม คล้ายโครงการฝากบ้านไว้กับตำรวจ เพียงแต่เพิ่มความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของสังคมและชุมชนที่จะต้องช่วยกันดูแลทรัพย์สินของส่วนรวม

ส่วนการของบประมาณจัดจ้างธุรการ ภารโรง เพิ่มนั้น ก็เป็นเรื่องที่ยังต้องดำเนินการ เพราะเป็นที่ทราบอยู่แล้วว่า โรงเรียนขนาดเล็กมีครูน้อย หากมีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำเข้ามาช่วยดูแลโรงเรียนก็จะเป็นการลดภาระครู คืนครูสู่โรงเรียน เพื่อให้ครูสอนหนังสือได้เต็มที่ โดยตั้งเป้าว่าจะต้องมีธุรการ ภารโรงครบทุกโรงเรียน ซึ่งนายกฯ ก็รับปากว่า จะดูแลเรื่องนี้ให้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน