ปลัดมท. นำประชุมคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เน้นย้ำ ร่วมบูรณาการผลักดันสร้างระบบสุขภาพในทุกพื้นที่ พร้อมขับเคลื่อน “หมู่บ้านยั่งยืน” ขยายผลให้ครบทุกมิติ เพื่อให้ประชาชนสุขภาพดีและมีความสุข

วันนี้ (26 ม.ค. 67) ที่ห้องประชุมอัษฎางค์ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นพ.เติมชัย เต็มยิ่งยง เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นพ.ดิเรก สุดแดน ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข นายพิชญะ ใหญ่แก่นทราย ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายแหลม ศรีนุ้ย ผู้แทนสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม โดยเป็นการประชุมออนไลน์ผ่านระบบทางไกล (Zoom Cloud Meeting) มีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟัง

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนได้มีสุขภาพพลามัยที่ดี สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข ซึ่งเรื่องสุขภาพของประชาชนเป็นหนึ่งในภารกิจของกระทรวงมหาดไทย สอดคล้องกับพันธกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน และแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ในการทำให้ประชาชนทุกคนมีสุขภาพดีและความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งที่ผ่านมาเราได้มีการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชนในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ให้ครบ 100% ภายใต้กลไกของกระทรวงมหาดไทย มีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 7,849 แห่ง ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จากกระทรวงสาธารณสุขมาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเรามีตัวอย่างที่ดีของ อบจ.เชียงใหม่ ที่ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ 16 หน่วยงาน มาลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาระบบอภิบาลสุขภาพท้องถิ่นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจังหวัดเชียงใหม่ มาจับมือช่วยกันเพื่อผลักดันระบบสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม

“การส่งเสริมระบบคุณภาพ เราไม่ได้มุ่งเน้นแค่เพียงการป้องกัน แต่เราส่งเสริมให้เกิดการรักษาสุขภาพเชิงรุก ซึ่งเกี่ยวข้องตั้งแต่ “ก่อนครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” เกี่ยวข้องกับการดูแลทุกข์สุขของประชาชน ทางกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ โดยเฉพาะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สร้างระบบให้ทุกครัวเรือนสามารถดูแล “บำบัดทุกข์” ให้กับประชาชนได้ และ “บำรุงสุข” คือ การทำให้เป็นหมู่บ้านยั่งยืน ประชาชนมีความมั่นคง มีสุขภาพที่ดี ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย มีสภาพแวดล้อมที่ดี ปราศจากยาเสพติด รวมถึงการสร้างการรวมกลุ่มเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง เป็นกลุ่ม คุ้ม ป๊อก หย่อมบ้าน เช่นเดียวกับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นรูปแบบกลุ่มบ้านแบบธรรมชาติ รวมไปถึงการกำหนดแนวทางกรอบงบประมาณ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีแนวทางการทำงานได้สะดวกขึ้น ส่งผลประโยชน์และสามารถตอบสนองพี่น้องประชาชนได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเราจะได้ช่วยกันเสนอแนะเพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องตามภูมิสังคม รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการสร้าง Know-how องค์ความรู้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างถูกต้องและชัดเจน ซึ่งตัวอย่างที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ทำ โดยใช้เทคโนโลยี Tele Medicine ที่สามารถนำมาเป็นต้นแบบในการขยายผลไปยัง อปท. อื่น ๆ ทั่วประเทศ ทำให้ทุกพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นเดียวกัน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครองมีการจัดเก็บข้อมูลรายครัวเรือนแบบพุ่งเป้าตามฐานข้อมูลระบบ ThaiQM เรื่องปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในทุกมิติ ซึ่งเราดำเนินการสำรวจและค้นหาครัวเรือนแบบครบทั้ง 100% ดังนั้น หากทุกหน่วยงานจะบูรณาการข้อมูลไปใช้ก็จะเป็นประโยชน์และช่วยสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนได้ โดยไม่จำเป็นต้องสร้างระบบใหม่ นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยโดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้ขับเคลื่อนเรื่องส่งเสริมด้านสุขภาพของเด็กเยาวชน ให้เด็กได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนเพียงพอต่อการเจริญเติบโต จึงได้มีนโยบายไปยังทุกจังหวัดในการขับเคลื่อนให้ทุกโรงเรียนได้มีไข่ไก่ให้นักเรียนรับประทานอย่างน้อยวันละ 2 ฟอง ด้วยการส่งเสริมให้เลี้ยงไก่เพื่อนำไข่มาเป็นอาหาร และยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมไปถึงการส่งเสริมให้มีการคัดแยกขยะ จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร่วมด้วยช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับการมีสุขภาพพลานามัยที่ดีของประชาชน

“ขอขอบคุณทุกท่านที่ไว้วางใจให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนดูแลระบบสุขภาพ ภายใต้คณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ซึ่งเราทุกคนมีความมุ่งมั่นตั้งใจจะทำให้เกิดระบบสุขภาพให้สำเร็จ และยินดีจะทำให้พันธกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ได้บรรลุผลสำเร็จ จึงขอให้ทุกท่านร่วมกันขับเคลื่อนโดยมีเป้าหมายเดียวกันให้เป็น “หมู่บ้านยั่งยืน” เริ่มตั้งแต่การดูแล “ก่อนครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงสุขภาพพลานามัยโดยตรง โดยจะบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน สร้างการมีส่วนร่วม เพื่อร่วมกันส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในทุกมิติ อันจะนำไปสู่ชุมชนเข้มแข็ง เมืองน่าอยู่ และประชาชนมีความสุข” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

นพ.เติมชัย เต็มยิ่งยง เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เพื่อสนับสนุนและประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ได้ ตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการ เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้แก่บุคคลในพื้นที่ โดยมีอำนาจหน้าที่ คือ 1) จัดทำหรือทบทวนกฎว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินงาน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2) สนับสนุนและประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินงาน รวมถึงสนับสนุนและส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมให้องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน และภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร ดำเนินงานและบริหารจัดการเงินกองทุนในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ได้ตามความพร้อม ความเหมาะสม และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ 3) จัดทำข้อเสนอด้านสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 4) ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ และจัดทำข้อเสนอเพื่อการพัฒนาที่ต่อเนื่อง

“นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการและบริหารจัดการใน 3 รูปแบบ คือ 1) กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ให้ประชาชนทั่วไปเน้นสร้างสุขภาพ มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมกรุงเทพมหานคร จำนวน 7,774 แห่ง 2) ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน สำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิง ของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 7,214 แห่ง และ 3) กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด ของ อบจ. สำหรับคนพิการและผู้จำเป็น จำนวน 69 แห่ง” นพ.เติมชัยฯ กล่าวเพิ่มเติม

#WorldSoilDay #วันดินโลก
#UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#SoilandWaterasourceoflife
#SustainableSoilandWaterforbetterlife
#ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน
#SDGsforAll #ChangeforGood

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน