ปลัดมหาดไทย นำประชุมขับเคลื่อนจัดตั้ง “สำนักงานส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (องค์การมหาชน) (Office of Sufficiency Economy Development Zone : OSEDZ)” ย้ำเป้าหมายที่สำคัญในการเป็นหน่วยงานหนุนเสริมและสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่และเมืองตามแนวทางการพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน สู่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ที่ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และยกระดับต่อยอดสู่ปลายน้ำ ยังประโยชน์ทำให้ประชาชนมีความมั่นคงของชีวิต มีเศรษฐกิจฐานรากที่มั่งคั่ง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

วันที่ 8 ก.พ.67 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงในการจัดทำคำขอจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (องค์การมหาชน) (Office of Sufficiency Economy Development Zone : OSEDZ) ซึ่งล่าสุด กระทรวงมหาดไทยได้มีการจัดประชุมขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าว โดยมี รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ว่าที่ร้อยเอก ธีรพงศ์ ครุธดิลกานันท์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายธนิต ภูมิถาวร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสมาน พั่วโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน นายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมอัษฎางค์ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นเวลา 132 ปีที่กระทรวงมหาดไทยมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนงานตามปณิธาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” โดยมุ่งเสริมสร้างกลไกการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนทุกช่วงวัยให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างสมดุลและมีความสุข โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้ให้กับพวกเราคนไทยเพื่อเป็นหลักการดำรงชีวิตที่จะทำให้เกิดความสมดุลทั้งต่อชีวิต สรรพสัตว์ และสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย อันยังประโยชน์มหาศาลและความยั่งยืนให้กับชีวิตคนไทยและโลกใบเดียวนี้

“กระทรวงมหาดไทยตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องดังกล่าว จึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่และเมืองตามหลักการพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืนและน้อมนำแนวพระราชดำริอารยเกษตรมาเป็นแนวทางการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Development Zones : SEDZ) ซึ่งถือเป็นแนวทางที่สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลด้านการขจัดความยากจนและพัฒนาศักยภาพของคนในทุกช่วงวัย สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย โดยมีกรอบแนวทางจากการนำองค์ความรู้ตัวอย่างการขับเคลื่อนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย รวมถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียงที่มีความเชื่อมโยงกับวาระแห่งชาติด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular Green Economy) สู่การจัดทำคำขอจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (องค์การมหาชน) (Office of Sufficiency Economy Development Zone : OSEDZ) เพื่อเป็นองค์การมหาชนภายใต้กระทรวงมหาดไทย ที่มีภารกิจในส่งเสริม สนับสนุน และเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาทุกมิติและทุกระดับ ครอบคลุมทั้งในด้านการศึกษาอบรมและพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การสังคมสงเคราะห์ การอำนวยบริการประชาชน หรือการดำเนินการอันเป็นสาธารณประโยชน์ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและมีการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรและบุคลากรให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ตลอดจนเพื่อบูรณาการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เข้าร่วมทำงานอย่างมีเอกภาพ สามารถประสานงานเพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ลดช่องว่างข้อจำกัดของระบบราชการ ทั้งนี้ SEDZ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้สังคมไทยได้เห็นแล้วว่า สามารถเป็นกลไกที่สำคัญของการดำรงอยู่ของชีวิตประชาชนในสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่อาจคาดหมายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา หลักคิดของ SEDZ สามารถช่วยทำให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้สามารถดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่คนจำนวนมากต้องถูกเลิกจ้าง และกลับไปใช้ชีวิตในต่างจังหวัด โดยกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน เป็นหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือประชาชนในส่งเสริมการประกอบอาชีพ การส่งเสริมช่องทางการตลาด ตลอดจนการส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประยุกต์สู่การพัฒนาพื้นที่และการบริหารจัดการพื้นที่ให้กับพี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ อันเป็นการสนองพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังผลให้เกิดคุณประโยชน์อันไพบูลย์งอกงาม” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำว่า แม้ว่าที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยจะมุ่งมั่นขับเคลื่อนการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การหนุนเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลัง แต่ทว่า สิ่งที่หน่วยงานได้ร่วมกันขับเคลื่อนนั้น สามารถทำให้พี่น้องประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในขั้นต้น และขั้นกลาง นั่นคือ “พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น” หรือทำบุญทำทาน ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยในระดับพื้นที่ได้ช่วยกันประคับประครองจนทุกวันนี้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ “แต่ความสำเร็จที่แท้จริง” ที่จะทำให้พี่น้องประชาชนสามารถก้าวไปสู่ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตความเป็นอยู่อย่างสมดุลตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยการสร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือทั้ง 7 ภาคี ทั้งในระดับพื้นที่ชุมชน ระดับหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ระดับชาติและระดับนานาชาติในการระดมสรรพกำลังร่วมกันพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้เป็นผลสำเร็จ คือ ผลลัพธ์ที่สำคัญของการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (องค์การมหาชน) (Office of Sufficiency Economy Development Zone : OSEDZ) เพราะสิ่งที่พี่น้องประชาชนจะได้รับจากการขับเคลื่อนงานของ OSEDZ ในด้านการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Development Zones : SEDZ) นี้ พี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถเข้ามาประกอบอาชีพ เข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่ ส่งเสริมการช่วยเหลือพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยประการที่สำคัญที่สุด คือ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มแปรรูปผลผลิต ค้าขาย เกิดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) คือ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า การจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (องค์การมหาชน) (Office of Sufficiency Economy Development Zone : OSEDZ) ที่กระทรวงมหาดไทยกำลังดำเนินการไปสู่การจัดตั้งตามกระบวนการและขั้นตอนตามกฎหมายนี้ จะทำให้ประเทศไทยได้มีหน่วยงานที่สำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาคน การส่งเสริมการท่องเที่ยว การดึงดูดใจให้คนไปท่องเที่ยว ไปจับจ่ายใช้สอย ผลประโยชน์เกิดกับพี่น้องประชาชนคนไทย โดยสิ่งที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยจะต้องทำในตอนนี้ คือ การประมวลรวบรวมสิ่งที่ได้ดำเนินการอยู่ก่อนแล้วทั้งหลายที่มีผลลัพธ์ ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลสารสนเทศของหมู่บ้าน อาทิ ข้อมูลหมู่บ้านส่งเสริมการท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี หรือหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ของกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อทำให้เกิดความชัดเจนและเกิดการประสานเชื่อมโยงได้ตลอดเวลาในทุกมิติ และสามารถหนุนเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้น สามารถประเมินจัดกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการเพื่อนำมาสู่การวางแผนผลผลิตหรือความต้องการของตลาดให้กับพี่น้องประชาชน ตลอดจนถึงกระบวนการแปรรูปที่มีความเชื่อมโยงกับพี่น้องประชาชน ทำให้พี่น้องประชาชนสามารถมีรายได้ที่ตอบสนองความต้องการขั้นต้น ยกระดับสู่การมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในชุมชน (ขั้นกลาง) และยกระดับสู่ “ขั้นก้าวหน้า” คือการแปรรูปผลิตภัณฑ์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่ตลาด ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้กับพื้นที่ชุมชน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นรากฐานของเศรษฐกิจพอเพียง

“ตลอดระยะเวลา 132 ปี ของการสถาปนากระทรวงมหาดไทย เราไม่หยุดเพียงแค่ทำงานให้เสร็จ แต่เรามุ่งมั่นทำงานให้สำเร็จ สำนักงานส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (องค์การมหาชน) (Office of Sufficiency Economy Development Zone : OSEDZ) ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะไม่เพียงเป็นองค์กรเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนที่ปลายน้ำ แต่จะเป็นองค์กรที่หลอมรวมการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนบนพื้นฐานของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญของคนมหาดไทยทุกคนที่ต้องช่วยกันวางระบบที่เป็นมาตรฐานและเกิดประสิทธิภาพให้มากที่สุด โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ “ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน” โดยการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (องค์การมหาชน) (Office of Sufficiency Economy Development Zone : OSEDZ) จึงเป็นความหวังของกระทรวงมหาดไทยที่พวกเราทุกคนได้เริ่มต้นและเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน อันจะทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ เกิดห้องเรียนและศูนย์การเรียนรู้ให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนทุกช่วงวัย เป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับการนำไปสู่การเพิ่มพื้นที่แห่งความยั่งยืนนี้ในทุกภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นหลักประกันและพื้นที่ตัวอย่างของการส่งเสริมการสร้างความมั่นคงทางอาหาร การบริหารจัดการขยะ จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ธนาคารขยะ การสร้างความมั่นคงทางเครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรคหรือสมุนไพร เป็นพื้นที่สีเขียว Green Environment ควบคู่กับการสร้าง Green Community เพื่ออนาคตของประชาชน ประเทศชาติ และโลกใบเดียวนี้ อยู่ร่วมกันอย่างสมดุลและยั่งยืนสืบไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน