ไฟไหม้ 2 วัน เผาเหี้ยน 600 ไร่ ป่าทับลาน หวั่นปะทุ เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง คาดเกิดจากฝีมือชาวบ้านลักลอบเผาหาของป่า พบค่าฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่เป็นสีส้ม

เมื่อวันที่ 12 ก.พ.67 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ไฟป่าบริเวณเขามะค่า ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา โดยเขามะค่าอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าครบุรี อุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งเกิดไฟป่าขึ้นตั้งแต่คืนวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา ล่าสุดพบว่าสถานการณ์ไฟป่าบนเขามะค่า สงบลงแล้ว เหลือเพียงร่องรอยความเสียหาย ต้นไม้ และพืชเบญจพันธุ์ต่างๆ ที่ถูกไฟไหม้จนกลายเป็นเถ้าถ่านเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่ประเมินว่าพื้นที่ความเสียหายไม่ต่ำกว่า 600 ไร่

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบถึงบริเวณป่าที่ถูกไฟไหม้ลึกเข้าไปถึงกลางเขา เนื่องจากเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย ซึ่งยังสามารถมองเห็นฝุ่นควันลอยอยู่ ดังนั้นจึงต้องจัดกำลังเจ้าหน้าที่ และชาวบ้านจิตอาสาเฝ้าระวังไฟป่า คอยเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง เพราะเกรงว่าหากมีลมกระโชกแรง และมีเศษขี้เถ้าไฟที่ยังไม่มอดปลิวมาถึงนอกบริเวณแนวกันไฟที่ชาวบ้านทำไว้ อาจจะก่อให้เกิดไฟป่าขึ้นมาได้อีก

เนื่องจากพื้นที่บริเวณตีนเขามีชุมชนอยู่เป็นจำนวนมาก และยังมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองโบสถ์ อยู่ห่างจากแนวกันไฟสุดท้ายเพียง 300 เมตรเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ก็ต้องปิดศูนย์ฯ เป็นการชั่วคราวก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันที่ลอยปกคลุมอยู่ทั่วบริเวณ

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่คาดว่าสาเหตุของการเกิดไฟป่าในครั้งนี้ มาจากชาวบ้านที่ลักลอบเข้าไปเผาป่าเพื่อหาของป่าบนเขามะค่า จึงฝากเตือนว่าอย่าทำ เนื่องจากเมื่อเกิดไฟป่าแล้วจะสร้างความเสียหายให้กับต้นไม้ พืช และสัตว์ต่างๆ ในป่า รวมทั้งสร้างมลพิษเพิ่มอีกด้วย

นายธนัญชัย วรรณสุข ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 (นครราชสีมา) รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ว่า อยู่ในเกณฑ์สีส้ม ส่วนค่าฝุ่นมลพิษในอากาศ ตรวจวัดผ่านแอพพลิเคชัน Air4Thai พบว่า ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ตรวจวัดได้ 40.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ซึ่งแม้ว่าในช่วงนี้จะได้รับอิทธิพลของอิทธิพลของมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมพื้นที่ก็ตาม แต่ค่าฝุ่น PM 2.5 ยังเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ว่าจะต้องไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้ ดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ AQI ซึ่งเป็นข้อมูลคุณภาพและสถานการณ์มลพิษทางอากาศในแต่ละพื้น ยังตรวจวัดได้สูงถึง 108 AQI อยู่ในเกณฑ์สีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จึงต้องรณรงค์และจับตาป้องกันไม่ให้มีการลักลอบเผาพื้นที่การเกษตรและเผาป่าอย่างเข้มข้น

เพราะสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 (นครราชสีมา) ได้รายงานข้อมูลจุดความร้อนจากข้อมูลดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIRS ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา พบจุดความร้อนมากถึง 34 จุด โดยพบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มากสุด 8 จุด รองลงมา เป็นพื้นที่เขต สปก. 7 จุด, พื้นที่การเกษตร 6 จุด และพื้นที่ป่าสงวน 12 จุด ทั้ง 32 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา

ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ฯ รณรงค์ประชาชนให้ตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาพื้นที่การเกษตรและพื้นที่อื่นๆ เพื่อช่วยลดการก่อฝุ่นละออง PM 2.5 ให้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพทุกพื้นที่

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน