ม็อบ 5 สถาบันการแพทย์ ถือหนังสือร้อง ชลน่าน จี้แก้ปัญหาจ่ายเงินค่ารักษาคนไข้บัตรทอง ต่ำกว่าทุนมาก ทำ รพ. เข้าสู่ภาวะติดลบกว่าพันล้านบาท

13 ก.พ. 67 – ที่กระทรวงสาธารณสุข ตัวแทนจาก 5 สถาบันทางการแพทย์ ได้แก่ เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย, ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป, ชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์, สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กว่า 100 คน

แต่งกายเชิงสัญลักษณ์ด้วยชุดสีดำ พร้อมถือป้ายข้อความเรียกร้องให้มีการแก้ไขระบบการบริหารจัดการงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และขอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเครือข่ายโรงพยาบาล (Provider Board)

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) กล่าวว่า วันนี้ 5 เครือข่ายสถาบันทางการแพทย์ได้มาเข้าพบ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการทักท้วงกันเป็นการภายในว่า ระบบของ สปสช. ในช่วงหลังนั้นค่อยข้างบิดเบี้ยว และมีอัตราจ่ายค่าบริการให้สถานพยาบาลที่ไม่เป็นธรรม ไม่สอดคล้องกับต้นทุน

นี่เป็นสิ่งที่ สปสช. ไม่ได้คำนึงถึงผู้มีส่วนร่วม โดยเฉพาะสถานพยาบาลในกรุงเทพมหานคร จึงส่งผลกระทบกับผู้ให้บริการที่เป็นเพื่อนร่วมงานทยอยหนีหายไป ถึงแม้ว่าในส่วนของภาครัฐจะหนีไปไม่ได้ แต่ภาคเอกชนก็หนีไปเยอะ ทำให้เหลือโรงพยาบาล (รพ.) เอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเฉพาะ รพ.เล็กๆ ที่ยังต้องพึ่งพิงงบประมาณจากรัฐ

วันนี้จึงหวังว่าจะมีการหารือร่วมกับ รมว.สธ. เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา โดยยืนยันว่าระบบของ สปสช. จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน ซึ่งจะเป็นในรูปแบบใดนั้น ตนก็เชื่อมั่นในตัว รมว.สธ. ที่มองภาพกว้างของระบบสุขภาพในประเทศ








Advertisement

“รพ.ในกลุ่มโรงเรียนแพทย์ขาดทุนจากการดูแลผู้ป่วยในเยอะอยู่ แต่เราต้องทน โดยเมื่อรวมกับระบบผู้ป่วยนอกเป็นมูลค่ามากกว่าพันล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขเฉพาะปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา แต่เราก็เห็นว่าถ้ายังดำเนินการแบบเดิมอยู่นั้น ในงบฯ ปี 2567 ก็คงไม่แคล้วกัน” รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าว

ด้าน นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวว่า หากจะถามว่า รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ขาดทุนจากการให้บริการเท่าไหร่นั้น ก็ต้องมาดูว่าเรามีต้นทุนเท่าไหร่ โดยปัจจุบัน สปสช. จ่ายค่าบริการให้ รพ. ในอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนมาก

อย่างเช่น การวิจัยต้นทุนการให้บริการผู้ป่วยในของ รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 1 หน่วย อยู่ที่ 13,000 บาท แต่ สปสช. กำหนดจ่ายเพียง 8,350 บาท แต่ก็เข้าใจว่าทาง สปสช. มีข้อจำกัดเรื่องงบฯ ที่ได้รับการจัดสรรมาเพียงเท่านี้ ทาง รพ. ก็ต้องบริหารงานด้วยงบฯ ที่มี ทำให้เกิดสภาวะที่ รพ. ได้รับค่าบริการต่ำกว่าต้นทุน

อย่างไรก็ตาม การบริหารงานของ สปสช. เป็นไปในลักษณะการเงินนำบริการ แต่โดยหลังขององค์การอนามัยโลก (WHO) จริงๆ ต้องถือการบริการนำมาก่อน แล้วการเงินจึงมาซัพพอร์ต

ขณะที่ พญ.นันทวัน ชอุ่มทอง นายกสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น กล่าวว่า คลินิกได้รับผลกระทบมาก และขอให้ทางสปสช.ช่วยจ่ายเงินให้คลินิกที่ทำงานไปแล้วในปี 2566 เพราะตอนนี้จ่ายเพียงครึ่งเดียว ส่วนปี 2567 งบประมารไม่เพียงพอ เพียงชั่วไตรมาสแรก 3 เดือนใช้ไปเกินครึ่งแล้ว คาดว่าไม่ถึง 6 เดือนงบประมาณ 2567 จะหมดลง และอยากให้ตรวจสอบการใช้เงินสปสช.ย้อนหลังด้วย เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยได้รับข้อมูลใดๆเลย ทั้งๆที่ขอตรวจสอบ

“ขอสนับสนุนตั้ง Provider Board และขอให้คนเข้ามาเป็นคนกลาง และแยกฝ่ายบริหารออกจากการเงิน เพื่อความโปร่งใสและยุติธรรม ที่สำคัญหัวใจของปัญหา เงินในระบบไม่เพียงพอกับภาระงานที่พวกเราดูแลอยู่ และสปสช.มีการบริหารงานทำให้เกิดความเสี่ยง ทำให้ผู้อยู่ในระบบเดือดร้อน จึงต้องแก้รากเหล้า หากเงินไม่พอ ก็ควรสนับสนุนงบประมาณให้คลินิก” พญ.นันทวันกล่าว

เมื่อถามว่าหากมีการจัดตั้ง Provider Board จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างไร รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า จริงๆ คณะกรรมการของ สปสช. ไม่ว่าจะเป็นชุดใหญ่หรือเล็ก แม้จะมีองค์ประกอบที่มีที่มา แต่ไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริง กรรมการแต่ละชุดมีข้อมูลในการตัดสินใจเพียงไม่กี่นาที

ฉะนั้น ตัวเลขหลายอย่างจึงผิดไปจากความเป็นจริง บางครั้งสูงถึงร้อยละ 80 ทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เราจึงอยากมีตัวแทนจากเราเองขึ้นมา แต่ไม่ใช่เป็นการจัดตั้งด้วยเวลาเร่งรัด เพราะเรื่องนี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น การประกาศต่างๆ ควรออกก่อนต้นปีงบประมาณ เพื่อให้เกิดการเตรียมตัว

เมื่อถามว่า ต้องเสนองบประมาณจากภาครัฐเพิ่มใช่หรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า ส่วนหนึ่งงบประมาณขาขึ้น ทาง สปสช. ต้องนำงบฯ จริงไปขอ และต้องกลับมานั่งดูว่า จะวางระบบอย่างไร เพราะไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว จึงต้องทบทวนเรื่องนี้ ผู้ให้บริการอดทนมานาน เรายืนยันไม่สร้างความเดือดร้อนประชาชน วันนี้จึงต้องมาแสดงพลังให้เห็น ท่านทั้งหลายที่เกี่ยวข้องจะได้กลับไปพิจารณา

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากการเรียกร้องวันนี้ไม่เป็นผล จะเกิดอะไรขึ้นในระบบสาธารณสุขของประเทศ รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า ยังไม่มีคำตอบ ณ วันนี้ เพราะจริงๆ เราทำอะไรเราคำนึงถึงประชาชน เราไม่หันหลังให้ประชาชน และเชื่อว่า ท่านรัฐมนตรีฯ ท่านนายกฯ จะไม่ทิ้งเรื่องนี้ เพราะหากภาคบริการสาธารณสุขทรุดไป จะไม่มีใครปกป้องด้านสุขภาพ

หากโควิดกลับมาจะมีแต่คนหนี้ การที่อยู่ไม่ใช้เพราะเงิน แต่เราต้องมีไว้เพื่อพัฒนาหน่วยงาน หลายอย่างก็ขึ้นราคา ส่วนระบบจะเป็นอย่างไรต้องให้ซูเปอร์บอร์ดพิจารณา แต่เราคงมีข้อเสนอไปถึง เป็นมุมมองหนึ่งเพื่ออภิบาลให้ต่อเนื่อง

เมื่อถามว่า เครือข่ายฯ จะทำหนังสือถึงคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ หรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า เราไม่หยุดนิ่ง แต่จะรูปแบบไหนก็ต้องรอ เราเน้นสันติ เพราะเราเป็นมืออาชีพ เพราะทุกคนถูกสอนให้ดูแลผู้ป่วย เราต้องทน แต่ความทนมีขีดจำกัด เราก็สะท้อนออกมา ซึ่งไม่ได้สะท้อนประชาชน แต่สะท้อนไปยังผู้บริหารที่ดูแลระบบ

ถามต่อว่า ถ้าเรื่องนี้ยังไม่แก้ไขจะกระทบกับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่หรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า จะมีหน่วยบริการหนีหายจากระบบ อย่างคลินิกเอกชนออกไปแน่ๆ จะเหลือร่อยหรอ ส่วนรพ.รัฐหนีไม่ได้ แต่ไม่อยากให้มองผู้ป่วยบัตรทองเป็นผู้ป่วยชั้นสอง ไม่อยากให้เกิดสภาพนั้น เช่น รพ.ต้องออกนโยบายระมัดระวังเวลามีผู้ป่วยบัตรทอง

เมื่อถามว่า เป็นการบริหารงานผิดพลาดหรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า ไม่มีสิทธิไปบอกว่าล้มเหลวหรือผิดพลาดอะไร เราไม่ได้มีหน้าที่ตรงนี้ แต่ขอให้ทบทวน เป็นข้อมูลจริง

เมื่อถามว่า หากไม่ได้รับการแก้ไขครั้งนี้ จะไปหานายกฯ หรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ขอไม่ตอบ อย่างไรก็ตาม คงต้องถามท่านรัฐมนตรีเป็นระยะ การแก้ไขช้าเราเข้าใจ เพราะเราก็ทนรับมาเป็น 10 ปีแล้ว

ต่อมา นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มารับหนังสือแทน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ดสปสช. และมี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช. มาร่วมรับหนังสือ จากนั้นเข้าหารือในห้องประชุมชั้น 2 ร่วมกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน