ชลน่าน จ่อหาวิธีตั้ง โพรไวเดอร์บอร์ด แก้ปัญหาการเบิกจ่าย ค่ารักษาคนไข้บัตรทอง แง้ม ใช้ “หน่วยงานกลาง” ดูแลทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ

14 ก.พ. 67 – ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ 5 สถาบันทางการแพทย์ ได้แก่ เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย, ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป, ชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์, สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน

เรียกร้องให้มีการแก้ไขระบบการบริหารจัดการงบประมาณ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และขอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการด้านผู้ให้บริการ (Provider Board) ซึ่งเมื่อวานนี้ (13 ก.พ.) มีการหารือร่วมกันระหว่าง รมว.สธ. และ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาสปสช. พร้อมกับตัวแทน 5 สถาบันฯ ซึ่งมีความเห็นให้ตั้ง Provider Board ว่า

สำหรับคณะกรรมการด้านผู้ให้บริการ ซึ่งประกอบด้วยโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รพ.ในสังกัดกระทรวงอื่น เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รพ.สังกัดเอกชน รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป และคลินิกเอกชน ที่เป็นผู้ให้บริการทางการแพทย์ ซึ่งในกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ได้พูดถึง เพียงแต่มีการกำหนดมาตรฐานโดยกรรมการควบคุมมาตรฐาน แต่ทางผู้ให้บริการก็อยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบ

จึงเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการจากผู้ให้บริการมารองรับในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้มาสู่เชิงปฏิบัติ ซึ่ง Provider Board จะดูแลเรื่องระบบการให้บริการเป็นหลัก โดยจะครอบคลุมถึงสิทธิประกันสังคมและสิทธิกรมบัญชีกลางด้วย แต่ไม่ได้มีหน้าที่ในการกำหนดสิทธิประโยชน์ในสิทธิสุขภาพต่างๆ

นพ.ชลน่านกล่าวว่า สำหรับ Provider Board ทางผู้ให้บริการคาดหวังไปถึงการจัดตั้งเป็น “หน่วยงานกลางในการจัดการธุรกรรมการเบิกจ่ายและระบบข้อมูลบริการสาธารณสุข (National Clearing House)” ซึ่งจะดูแลในทุกสิทธิ ซึ่งตอนนี้ยังเป็นเพียงข้อเสนอ แต่หลักการทางกฎหมายแล้วหน่วยงานกลางควรจะเป็น สปสช. เพราะไม่ได้ดูเฉพาะบัตรทองแต่ดูทุกระบบสิทธิสุขภาพ

เราเคยเสนอเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการหลักประสุขภาพแห่งชาติ หรือ บอร์ดสปสช. ที่ตนเป็นประธาน ซึ่งมีมติให้คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องพิจารณาดูว่าอำนาจหน้าที่ของบอร์ดสปสช.จะสามารถดำเนินการแต่งตั้ง Provider Board ได้หรือไม่ โดยตอนนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาของคณะอนุกรรมการ

เมื่อถามว่าการแต่งตั้ง Provider Board อยู่ภายใต้บอร์ดสปสช. หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า หากเรื่องนี้อยู่ในอำนาจกฎหมายของหลักประสุขภาพฯ ทางบอร์ดสปสช. ก็ต้องเป็นผู้แต่งตั้งขึ้นมา








Advertisement

ถามต่อว่าหากแต่งตั้งแยกออกมาไม่อยู่ภายใต้บัตรทองได้หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ไม่ได้อยู่ภายใต้บัตรทอง แต่อยู่ภายใต้กฎหมายหลักประกันสุขภาพฯ ซึ่งคณะกรรมการ Provider Board ก็เป็นตัวแทนจากผู้ให้บริการทางการแพทย์ที่ดูแลคน 67 ล้านคน ไม่ได้เฉพาะบัตรทองอย่างเดียว เพียงแต่การจัดระบบบริการแต่ละสิทธิสุขภาพ ยังมาร่วมมือกันจัดได้เท่านั้นเอง แต่ก็ยังอยู่ในร่มเดียวกันคือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

“หากจะตั้ง Provider Board แยกออกมา ก็ทำได้ แต่ต้องไปดูว่า มีอำนาจกฎหมายใดมารองรับ อย่างที่พิจารณากันอยู่คือ ใช้อำนาจของคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ที่มีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มาช่วยพิจารณา แต่ดูแล้วหากใช้อำนาจจากคณะกรรมการฯ ชุดนี้ที่มาจากกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นชุดเฉพาะด้าน เฉพาะกิจ

ดังนั้นหากภาคการเมืองหมดวาระไป คณะกรรมการฯ ที่แต่งตั้งขึ้นมา ก็ต้องหมดวาระไปด้วย ต้องแต่งตั้งขึ้นมาใหม่ ก็จะไม่ยั่งยืน แต่หากตั้ง Provider Board ภายใต้กฎหมายที่เฉพาะด้าน อย่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่พูดถึงทุกสิทธิ ก็จะเกิดความยั่งยืน” นพ.ชลน่านกล่าว

เมื่อถามว่า สรุปแล้วทาง สปสช. มีการค้างจ่ายค่าบริการให้กับหน่วยบริการหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นหนี้เชิงระบบบัญชีของวิธีการคิดค่าใช้จ่าย ยกตัวอย่างให้เข้าใจ คือ สปสช.กำหนดหน่วยการจ่ายอยู่ที่ 8,350 บาทต่อหน่วย แต่หน่วยบริการต่างๆ ทำงานได้เพียง 7,900 บาทต่อหน่วย แต่มีการจ่ายไปแล้ว 8,350 บาท ดังนั้นส่วนนี้จึงเป็นภาระหนี้ค้างบัญชี

แต่การตีความหน่วยของแต่ละที่ มีวิธีคิดที่ไม่สอดคล้องกัน อย่างกรณี รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ที่ทำได้ถึง 20,000 บาทต่อหน่วย แต่มีการจ่าย 8,350 บาท แบบนี้ใครจะเป็นหนี้ใคร หรืออย่างเครือข่าย รพ.ในสังกัดโรงเรียนแพทย์ที่มีค่าเฉลี่ยต่อหน่วยอยู่ที่ 13,500 บาท

ซึ่งหากสปสช. จ่ายเพียง 8,350 บาท ก็จะมีคำตอบในตัวว่าใครเป็นหนี้ใคร เพียงแต่ว่า ขณะนี้ สปสช. ถือหลักว่า มีการจ่ายหน่วยละ 8,350 บาทแล้ว แต่ทางหน่วยบริการทำงานได้ 7,900 บาท หรือ 8,100 บาท ทางหน่วยบริการก็จะเป็นหนี้ สปสช.

“แนวทางที่ให้ไว้สำหรับหนี้ทางบัญชีที่เกิดจากวิธีการคิดของการจ่าย ซึ่งวิธีคิดเช่นนี้สะท้อนมาจากการให้บริการของแต่ละที่ จึงให้แนวไปว่า การกำหนดวิธีคิดเช่นนี้ อาจจะไม่สอดคล้องกับการให้บริการจริง ทำให้หน่วยบริการเป็นหนี้ สปสช.

แต่หากไปดูข้อเท็จจริง หน่วยบริการมีการให้บริการที่มากกว่านั้น จึงให้ สปสช.ไปดูวิธีการคิดให้ถูกต้องเหมาะสม เพราะเป็นหนี้ทางบัญชีเท่านั้น จึงให้มีการชะลอการเรียกเก็บหนี้ ซึ่งหากมีการพิสูจน์ได้ว่า วิธีการคิดเช่นนี้ไม่ชอบ ไม่เหมาะสม ก็อาจมีวิธีคิดแบบใหม่มา ซึ่ง สปสช. อาจจะเป็นหนี้หน่วยบริการด้วย” นพ.ชลน่านกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน