กรุงเทพฯ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กังวลฤดูร้อน อุณหภูมิสูงขึ้น 2 องศา เตรียมรับมือ ฮีทสโตรก วาง 6 มาตรการป้องกัน กลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยง เด็กนักเรียน เจ้าหน้าที่ กทม.

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ศาลาว่าการ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครว่า

ขณะนี้ กทม.มีความกังวลอย่างยิ่งเรื่องอุณหภูมิที่สูงขึ้นในช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะการเตรียมรับมือกับโรคฮีทสโตรก (โรคลมแดด ภาวะวิกฤตร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกาย) ในกลุ่มเปราะบาง จากความร้อนที่อาจสูงขึ้นมาก

ซึ่งมีรายงานจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.67 ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ โดยปี 2567 คาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะสูงกว่าปกติ 1-2 องศาเซลเซียส จากปรากฏการณ์เอลนีโญ (การเปลี่ยนทิศทางกระแสน้ำและกระแสลม ทำให้เกิดการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศโลก) ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2541 และ ปี 2559

โดย กทม.ได้เตรียมมาตรการรับมือ ประกอบด้วย 1. การเฝ้าระวังแจ้งเตือนประชาชนในการป้องกันสุขภาพ 2. มาตรการลดอุณหภูมิเมือง สั่งการให้ทุกเขตประเมินจุดเสี่ยงในพื้นที่ เช่น ชุมชน โรงเรียน สถานที่ก่อสร้าง สวนสาธารณะ 3. ประชาสัมพันธ์ถึงผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง เช่น ผู้ที่ชอบออกกำลังกาย แรงงานก่อสร้าง เกษตรกร ให้เฝ้าระวังการทำงานหรือกิจกรรมกลางแจ้ง

4. จัดฝึกอบรมแนวทางการรับมือให้นักเรียนในโรงเรียน 5. ปรับเวลาการทำงานของเจ้าหน้าที่กวาด งดการทำงานในช่วงเวลา 11.00 น. ถึง 15.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดของวัน 6. ดำเนินโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้นอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมร่างผังเมืองรวมฯ ให้มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น เพื่อลดอุณหภูมิเมืองในระยะยาว

นายชัชชาติ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญของโรคฮีทสโตรกไม่ใช่เรื่องอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างเดียว ยังมีเรื่อง ดัชนีความร้อน (Heat Index) ประกอบด้วย เนื่องจากอุณหภูมิสูงควบคู่กับความชื้นสูง ทำให้เหงื่อในร่างกายไม่ระเหย เกิดสภาวะร่างกายเสียน้ำแต่อุณหภูมิร่างกายไม่ลดลง

ซึ่งต้องให้ความรู้โดยเฉพาะในเด็กนักเรียน โดยกำหนดมาตรการขึ้นป้ายแจ้งเตือนเรื่องความร้อนและความชื้นประจำวันในโรงเรียน เพื่อระมัดระวังตัวมากขึ้น รวมถึงนำมาตรการทั้งหมดไปใช้ในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ เป็นต้น








Advertisement

ด้าน นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สำหรับแนวทางการเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพบุคลากร กทม.ที่ต้องปฏิบัติงานกลางแจ้ง เช่นพนักงานกวาดถนน พนักงานเก็บขนมูลฝอย เป็นต้น ซึ่งอาจได้รับผลกระทบเป็นโรคลมแดดขณะปฏิบัติงาน จึงกำหนดเวลาการทำงานของพนักงานกวาดถนน แบ่งเป็น 2 รอบ คือ รอบเช้า เวลา 05.00 – 12.00 น. และรอบบ่าย เวลา 12.00 – 20.00 น. เพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติงานที่ต้องเผชิญความร้อน หรือตากแดดเป็นเวลานาน

ส่วนพนักงานสวนที่ต้องปฏิบัติงานดูแลสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวที่อยู่กลางแจ้งไม่มีร่มไม้ช่วยบังแดด ให้ปรับการปฏิบัติงานที่ต้องทำกลางแจ้ง เช่น การพรวนดิน การตัดแต่งไม้พุ่ม โดยเปลี่ยนมาทำในช่วงเช้า ส่วนช่วงบ่ายที่แดดแรงให้หลีกเลี่ยงงานที่ต้องยืนกลางแดดเป็นเวลานาน สลับเวลาทำงานให้เข้าพักในร่มบ้าง

ขณะเดียวกันได้ให้ความรู้การดูแลและป้องกันตัวเองจากโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก เช่น พกน้ำดื่มเพื่อจิบดื่มบ่อยๆ และสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการป่วยให้รีบแจ้งเพื่อนร่วมงาน หรือผู้บังคับบัญชา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน