กรุงเทพฯ “ผู้ว่าฯชัชชาติ” ขานรับนโยบาย นายกฯ เศรษฐา สั่งเตรียมพร้อมระบบระบายน้ำ จี้เขต เร่งดำเนินการลอกคลองกำจัดผักตบ คาดปีนี้ฤดูฝนมาเร็ว

4 มี.ค. 67 – ที่ศาลาว่าการกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงแนวทางบริหารจัดการน้ำในคลองต่างๆ เพื่อป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝนที่จะมาถึงว่า

สืบเนื่องจากกิจกรรมผู้ว่าสัญจรฯ ทั้ง 50 เขต การขุดลอกคูคลองเป็นหนึ่งในนโยบายกำหนดให้ทุกเขตเร่งดำเนินการ นอกเหนือจากเรื่องทางเท้า หาบเร่แผงลอย ความสะอาดเรียบร้อยของเมือง ซึ่งได้มีข้อสั่งการรวมทั้ง 50 เขต ประมาณ 1,200 เรื่อง

ปัจจุบันอยู่ระหว่างติดตามการดำเนินงานของแต่ละเขต โดยเฉพาะเรื่องขุดลอกคูคลอง เพื่อรับมือกับปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้ กทม.ร่วมมือกับฝ่ายความมั่นคงในการขุดลอกคูคลอง กำจัดผักตบชวาเพื่อเปิดทางน้ำไหล

จากการลงพื้นที่ติดตามความพร้อมของคูคลองพบว่า มีผักตบชวาจำนวนมากยังไม่ได้กำจัด เช่น ที่เขตพระโขนง คลองสวนอ้อย ช่วงคลองขวางบน ความยาว 1,050 เมตร ระดับขุดลอก 2-3 เมตร เชื่อมต่อคลองบางนางจีน ซอยอ่อนนุช 26 ปัจจุบันมีผู้รับจ้างแล้ว ได้สั่งการให้เขตเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนกลางเดือน พ.ค.นี้ รวมถึงช่วงคลองขวางล่างยังพบวัชพืชที่ต้องกำจัดเช่นกัน ซึ่งต้องเร่งดำเนินการ คาดว่าปีนี้ฤดูฝนจะมาเร็ว

นอกจากนี้ ยังมีการปรับประสิทธิภาพการสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำคลองบางนางจีน บริเวณซอยอ่อนนุช 1 จากเดิมสูบได้ 7 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 11 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมระบบกรองเศษขยะก่อนถึงเครื่องสูบน้ำ และสายพานลำเลียงเพื่อนำขยะใส่รถเก็บขนไปทิ้ง ใช้เจ้าหน้าที่ประจำสถานี 2 คนผลัดเวรตลอด 24 ชั่วโมง

โดย คลองบางนางจีน เขตพระโขนง มีความสำคัญ เนื่องจากรับน้ำจากย่านอ่อนนุชและย่านต่างๆ ระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร จึงต้องสร้างประตูกั้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำจากคลองพระโขนงเข้าท่วมย่านอ่อนนุช กรณีคลองพระโขนงมีระดับน้ำสูงกว่าคลองบางนางจีน โดยใช้สถานีสูบน้ำคลองบางนางจีนทำหน้าที่สูบน้ำระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อสามารถควบคุมปริมาณการสูบน้ำได้

รวมถึงมีระบบควบคุมการทำงานเครื่องสูบน้ำจากระยะไกล (SCADA) แต่ปัญหาที่พบคือ ระหว่างสูบน้ำมักมีเศษขยะลอยมากับน้ำจำนวนมาก จึงต้องมีระบบประตูกรองและสายพานลำเลียงขยะดังกล่าว ซึ่ง กทม.อยู่ระหว่างปรับปรุงสถานีสูบน้ำอื่น ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า สถานีสูบน้ำต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ มีความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน กว่าร้อยละ 98 ต้องสูบน้ำระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากระดับแม่น้ำเจ้าพระยาสูงกว่าระดับน้ำในคลองต่างๆ ของกรุงเทพฯ จึงต้องใช้วิธีสร้างประตูน้ำกั้นระดับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ แล้วสูบน้ำในคลองลงแม่น้ำเจ้าพระยา

โดยกำลังของเครื่องสูบน้ำต้องมีมากกว่าปริมาณฝนที่ตกลงมา โดยเฉพาะที่ประตูระบายน้ำพระโขนง รับน้ำจากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดมาสิ้นสุดที่จุดนี้ เช่น คลองลาดพร้าว คลองแสนแสบ คลองประเวศบุรีรมย์ รวมถึงน้ำจากเขตลาดกระบัง ไม่สามารถระบายออก จ.ฉะเชิงเทราได้ ต้องลำเลียงออกประตูน้ำพระโขนง เพื่อระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป

จากนี้จะลงพื้นที่ตรวจความพร้อมประตูน้ำพระโขนง เพราะเป็นจุดสำคัญในการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม ส่วนจุดอ่อนสำคัญของสถานีสูบน้ำขณะนี้คือ เรื่องไฟฟ้าสำรอง กรณีไฟดับฉุกเฉิน ต้องพิจารณาหาทางรับมือต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน