ศิลปิน ร่วมขับเคลื่อน แม่น้ำโขง ลงพื้นที่บันทึกความเปลี่ยนแปลง ใช้ศิลปะสะท้อนผ่านผลงาน-ระดมทุน เตรียมจัดตั้งกองทุนหนุนทำงานต่อเนื่อง

วันที่ 9 มี.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา นายกิตติ ตรีราช ผู้จัดการนาคาสตูดิโอ เปิดเผยว่าระหว่างวันที่ 3-9 มี.ค. โฮงเฮียนแม่น้ำโขง ร่วมกับ นาคาสตูดิโอ จัดทำโครงการศิลปะวิถีแห่งสายน้ำของ

โดยชักชวนและพาศิลปิน 15 คน ที่ทำงานเชื่อมโยงกับการอนุรักษ์แม่น้ำโขง ลงพื้นที่ร่วมกันสร้างผลงานทางด้านศิลปะ เพื่อใช้ในการระดมเงินจัดตั้งกองทุนในการทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำโขง

นายกิตติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการทำงานด้านศิลปะเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขาดงบประมาณและทรัพยากรในการสนับสนุนที่ชัดเจน ในหลายครั้งจึงไม่สามารถทำงานได้ตามเจตนารมณ์ที่ศิลปินได้วางไว้

อีกทั้งนาคาสตูดิโอมีความเชื่อว่างานศิลปะเป็นเครื่องมือในการสื่อสารที่ทรงพลัง ไม่ว่าจะเป็น ภาพวาด บทกวี บทเพลง ขณะที่นาคาสตูดิโอมีต้นทุนทั้งในส่วนของเครือข่ายศิลปินที่หลากหลายแขนง และเครื่องมือในการผลิตผลงานศิลปะ

จึงเป็นโอกาสที่ดีในการรวมตัวศิลปินเพื่อสร้างผลงาน และเป็นการเปิดพื้นที่ให้ศิลปินได้พบปะทำงานร่วมกันระหว่างรุ่นทั้งระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และขยายสู่ระดับโลก

“เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นใหม่ในการสร้างผลงานสนับสนุนงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เกิดเป็นกองทุนในการพึ่งพาตัวเองในการทำงานศิลปะ และสามารถเป็นช่องทางในการระดมทุนจากกลุ่มผู้มีกำลังทรัพย์ที่มีความสนใจในงานศิลปะ ในการหาทุนเพื่อสนับสนุนกองทุนทำงานด้านการอนุรักษ์ผ่านงานศิลปะที่หลากหลายแขนง ให้เกิดความยั่งยืนสืบต่อไป” นายกิตติ กล่าว

นายสุวัฒน์ อาวุธ ศิลปินอิสระ กล่าวว่า เมื่อ 30 ปีก่อนได้ติดตามศิลปินใหญ่หลายคน อาทิ อ.ประเทือง เอมเจริญ อ.แนบ โสตถิพันธุ์ มาลงพื้นที่วาดภาพแม่น้ำโขง ถือเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญ เพราะได้เห็นการสร้างงานศิลปะแม่น้ำโขงทำให้รู้สึกผูกพัน กลายเป็นภาพจำมาจนถึงปัจจุบัน การได้ย้อนกลับมาครั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสดีแม้มีความเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง จึงอยากทำงานศิลปะบันทึกต่อยอดในสิ่งที่ครูบาอาจารย์เคยบันทึกไว้








Advertisement

นายสุวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้เริ่มเปิดโครงการและมีเด็กนักเรียนกว่า 200 คนมาร่วมงาน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นปลาแม่น้ำโขงที่เป็นของจริง เห็นแต่เพียงในรูปภาพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นปลาที่หายไปจากการสร้างเขื่อน ดังนั้นในโลกสมัยใหม่ที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วก็ทำได้แค่ส่งเสียงออกไปโดยใช้ภาพวาด บทเพลงและกวีที่เราทำได้

“เป็นเรื่องเศร้าที่เด็กๆไม่เคยเห็นปลาแม่น้ำโขง ทั้งๆ ที่พ่อแม่เคยได้กิน เราให้เด็กๆ มาร่วมกันสร้างผลงาน เพื่อส่งเสียงออกไปเพราะเพื่อนๆเขาที่อยู่ในเมืองไม่รู้เหมือนคนริมน้ำ แม่น้ำโขงมีเรื่องราวมากมายและซับซ้อนลึกลับ จึงมีเรื่องที่น่าถ่ายทอดมาก” ศิลปินอิสระ กล่าว

นายสุวัฒน์ กล่าวถึงการตั้งกองทุนเพื่อให้ศิลปินร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานเพื่อแม่น้ำโขงว่า คนทำงานธรรมชาติจำนวนมากไม่ใช่คนรวยมีฐานะ การจะมาบันทึกภาพเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวจึงเป็นเรื่องยาก ดังนั้นจึงชักชวนศิลปินมาร่วมกันสร้างผลงานฝากไว้ในแผ่นดิน เพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนสนับสนุนศิลปินที่จะลงพื้นที่บันทึกเรื่องราวของแม่น้ำโขง อยากเชิญชวนศิลปินทุกคนทั้งรายบุคคลหรือหมู่คณะมาร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า นอกจากเสียงสะท้อนเรื่องราวแม่น้ำโขงไปสู่สังคมแล้ว อาจสะท้อนไปถึงรัฐบาลด้วยอยากบอกว่าอย่างไร นายสุวัฒน์ กล่าวว่า การพัฒนาและสร้างความเจริญนั้นหลายคนอยากได้ แต่หากมีแหล่งพลังงานอื่นที่ทดแทนได้ก็ควรพิจารณาทางเลือกอื่น

เพราะการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำจะคุ้มกันหรือไม่กับการสูญเสียระบบนิเวศที่หล่อเลี้ยงชุมชนสองฝั่ง การจะให้ชาวบ้านเลี้ยงปลากระชังทดแทนวิถีชีวิตที่จับปลาจากแม่น้ำเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่

“ทุกคนต่างไปหาความเจริญ แต่ถ้าเจริญแล้วทุกข์ การอยู่กระท่อมอยู่สวน อาจเป็นความสุขที่แท้จริง บางทีมันเวอร์ มันมากเกินไปก็ไม่ดี” นายสุวัฒน์ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน