กรมชลฯ เปิดเวทีรับฟังประชาชน เดินหน้าปรับปรุง 6 โครงการขนาดกลาง เตรียมใช้ระบบ IoT เพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค พร้อมเปิดเวทีระดมความคิดเห็น ดึงภาครัฐ ภาคประชาชน กลุ่มบริหารการใช้น้ำ เข้ามามีส่วนร่วม สร้างความเชื่อมั่นในการพัฒนาโครงการฯ

นายศุภชัย พินิจสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม สำนักงานชลประทานที่ 2 นำคณะผู้บริหาร และสื่อมวลชนลงพื้นที่ “โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแฮต” และร่วมประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการ ระหว่างวันที่ 28-29 มีนาคม 2567 เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาแผนหลักการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและผลการศึกษาความเหมาะสมของการปรับปรุงโครงการชลประทานการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดกลาง 6 โครงการ ในพื้นที่ จ.น่าน ในการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการฯ เพื่อระดมความคิดเห็นและสร้างความเข้าใจในแนวทางปรับปรุงแต่ละองค์ประกอบให้เกิดความทันสมัย แก้ไขบรรเทาปัญหา ภัยแล้ง อุทกภัย สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน การเพาะปลูกและกิจกรรมการใช้น้ำประเภทต่างๆ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ มีกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทาน ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟัง พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อรวบรวมไปสู่การปรับปรุงแผนพัฒนาโครงการที่สมบูรณ์

โครงการชลประทานขนาดกลางในเขต จ.น่าน ได้ดำเนินการก่อสร้างและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่มาเป็นระยะเวลานาน บางโครงการมีการใช้งานมามากกว่า 40 ปี กรมชลประทาน ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดกลางในเขตจังหวัดน่าน จึงจำเป็นต้องมีแผนการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำและปัญหาอุทกภัย กรมชลประทานจึงดำเนินการศึกษาความเหมาะสม

การปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดกลางในเขตจังหวัดน่านเพื่อศึกษาจัดทำรายงานแผนหลักการบริหารจัดการน้ำ และรายงานการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ และคัดเลือกโครงการจากแผนหลักที่มีความซับซ้อนมาศึกษาความเหมาะสมเพื่อศึกษารายละเอียด จำนวน 6 โครงการ ได้แก่ โครงการฝายน้ำกอน โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำพงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการฝายสมุน โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแฮต โครงการฝายสา และโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำแหง

โดยทั้ง 6 โครงการที่คัดเลือกประกอบด้วย โครงการฝายน้ำกอน จะมีปริมาณน้ำต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการขุดลอกตะกอนทราย 0.04 ล้าน ลบ.ม โครงการฝายสมุน จะมีปริมาณน้ำต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการขุดลอกหน้าฝายและเพิ่มระดับเก็บกัก 0.51 ล้าน ลบ.ม โครงการฝายสา จะมีปริมาณน้ำต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการขุดลอกตะกอนทราย 0.4 ล้าน ลบ.ม โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแฮต จะมีปริมาณน้ำต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการขุดลอกตะกอนทรายและเพิ่มระดับเก็บกัก 0.74 ล้าน ลบ.ม โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำแหง จะมีปริมาณน้ำต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการขุดลอกตะกอนทรายและเพิ่มระดับเก็บกัก 1.51 ล้าน ลบ.ม และโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำพง จะมีปริมาณน้ำต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการขุดลอกตะกอนทราย 0.14 ล้าน ลบ.ม ซึ่งทุกโครงการสามารถสร้างประโยชน์และลดปริมาณการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ชลประทานเดิม เพิ่มความมั่นคงด้านน้ำต้นทุนเพียงพอสำหรับส่งเสริมการปลูกพืช เพาะปลูกได้เต็มพื้นที่ทั้งในปีน้ำมาก น้ำปานกลาง ปีน้ำน้อยเพิ่มผลประโยชน์ด้านเกษตรชลประทาน นายศุภชัยฯ กล่าว

ผลการศึกษาโครงการฯ ได้มีการนำแนวทางติดตั้งและประยุกต์ระบบโทรมาตรควบคุมทางไกลและระบบ Internet of Things (IoT) มาใช้สร้างระบบบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ ติดตามควบคุมการส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพ ส่งน้ำได้ตรงความต้องการใช้น้ำ สนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) สร้างผลผลิตมูลค่าสูงที่ตลาดต้องการ ประหยัดน้ำและต้นทุนการผลิต เชื่อมโยงเกษตรกรกับตลาด

ในครั้งนี้ได้มีประธานและสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยแฮต ซึ่งได้รับรางวัลสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่นระดับกรม อันดับที่ 2 ประจำปี 2565 และ รางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 รางวัลระดับดี ประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ผลงาน “น้ำน้อย ย่อมแพ้ใจ” จากการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในงานชลประทานมานำเสนอเพื่อเป็นแนวทางและต้นแบบให้กลุ่มผู้ใช้น้ำอื่นในพื้นที่ มีความเข้มแข็งในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นระบบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน