ชัชชาติ เน้นย้ำความปลอดภัยสงกรานต์ ชวนเที่ยวทั่วกรุงฯ 118 จุด แบ่งไฮไลท์สองโซน สายวัฒนธรรม-เปียกน้อย สายสนุก-เปียกมาก เลือกสาดน้ำตามอัธยาศัย

9 เม.ย. 67 – ที่ศาลาว่าการกทม.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ประธานแถลงข่าวการจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์กรุงเทพมหานคร ประจําปี พ.ศ. 2567

โดยมี นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นายชาญยุทธ เศวตสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตัวแทนจากผู้ประกอบการเอกชน เช่น เซ็นทรัลพัฒนา สยามพิวรรธน์ ไอคอนสยาม สมาคมผู้ประกอบการค้าถนนข้าวสาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ สํานักงานทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มศิลปิน BNK48 เข้าร่วม

นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม.ให้ความสําคัญกับวันสงกรานต์ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมประเพณีของไทยที่มีมาอย่างยาวนาน โดยปีนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีหน่วยงาน ทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน จัดงานอย่างเต็มรูปแบบมากถึง 118 จุด โดยมีรูปแบบของการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย แบ่งออกเป็นสงกรานต์สายวัฒนธรรม (เปียกน้อย) ซึ่งจะเป็นการจัดงานสงกรานต์ตามประเพณี เน้นเรื่องของความเป็นสิริมงคล และ สงกรานต์สายสนุก (เปียกมาก)

ซึ่งจะเป็นการจัดงานแบบเน้นความสนุกสนานและกิจกรรมบันเทิงต่าง ๆ โดยมีจุดไฮไลท์สําคัญ ดังนี้ สงกรานต์สายวัฒนธรรม (เปียกน้อย) กทม.ได้จัดขึ้นที่ลานคนเมือง ระหว่างวันที่ 12-14 เม.ย.นี้ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 22.00 น. กิจกรรมประกอบด้วย พิธีบวงสรวง พิธีสวดพระปริตรามัญเสกน้ําพระพุทธมนต์ พิธีทําบุญตักบาตรพระสงฆ์ พิธีรดน้ําขอพร ผู้สูงอายุ การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยและการแสดงจากศิลปิน การละเล่นพื้นบ้าน และกิจกรรมรื่นเริงในรูปแบบงานวัด ลานกิจกรรม และการสาธิตทางศิลปวัฒนธรรมไทย การจําหน่ายผลิตภัณฑ์บางกอกแบรนด์ (Bangkok Brand) และของดี 50 เขต

ส่วน สงกรานต์สายสนุก (เปียกมาก) ได้แก่ ถนนข้าวสาร เขตพระนคร Khao San World Water Festival UNESCO 2024 และ ถนนสีลม ซึ่งผู้ประกอบการในพื้นที่ร่วมกันจัดงาน รวมทั้งภาคเอกชน ร่วมกันจัดงานสงกรานต์ด้วย อาทิ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ ศูนย์การค้า คิงเพาเวอร์ รางน้ํา สยามสแควร์ไอคอนสยาม ต่อข่าว

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ กทม.ร่วมกับ MIT Urban Risk Lab และธนาคารกรุงเทพ จัดทําแผนที่ดิจิทัลที่พัฒนาโดย Collective Resilience Network Thailand เป็นเว็บไซต์ https://happining.city/songkran 2024 รวบรวมสถานที่จัดงานเทศกาลสงกรานต์ทั้ง 118 จุด ทั่วกรุงเทพฯ แสดงรูปแบบของการจัดงานในแต่ละจุด สามารถปักหมุดหรือตรวจสอบข้อมูลต่างๆ โดยใช้ filter เลือกย่าน/ ประเภทกิจกรรมที่ชอบ/ ระดับความต้องการเปียกในการเล่นสงกรานต์

นอกจากนี้ยังมีการแจ้งเตือนเหตุในพื้นที่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวและ ประชาชนสามารถเลือกเที่ยวสงกรานต์ได้ตรงกับความต้องการของตนเอง และกระจายไปเล่นน้ําแบบไม่แออัดอยู่เพียงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง

สำหรับการเดินทางภายในเขตพื้นที่ชั้นใน กทม.ได้จัดรถพลังงานไฟฟ้า BMA Feeder (20 ที่นั่ง รองรับผู้พิการ 2 ที่) จํานวน 3 คัน สําหรับให้บริการ นักท่องเที่ยวและประชาชนที่มาร่วมงานเทศกาลสงกรานต์กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 12-15 เมษายน 2567 เวลา 13.00-21.00 น. จอดรับ-ส่งเฉพาะจุดจอดหลัก 9 จุด

คือ 1. ลานคนเมือง (เสาชิงช้า) 2. ป้ายแยกคอกวัว (ตรงข้าม ถ.ข้าวสาร) 3. งานสงกรานต์ สนามหลวง (ป้ายศาลฎีกา) 4. ป้ายคลองคูเมืองเดิม (MRT สนามไชย) 5. ป้ายมิวเซียมสยาม (MRT สนามไชย) 6. งานสงกรานต์ สนามหลวง (ป้ายสนามหลวง) 7. ป้ายก่อนแยกคอกวัว (ถ.ข้าวสาร) 8. ป้ายก่อนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ถ.ข้าวสาร) และ 9. ป้าย เสาชิงช้า

เพื่อลดปัญหาจราจรและหลีกเลี่ยงการนํารถจํานวนมากเข้ามาในพื้นที่จัดงานหลัก โดยจะให้บริการฟรี ความถี่ทุก ๆ 20 นาที โดยสามารถติดตามตําแหน่งของรถ BMA Feeder ได้ผ่านแอพพลิเคชั่น ViaBus ในโหมด BMA Feeder

นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า กทม. ให้ความสําคัญในเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยและการอํานวยความสะดวกให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ โดยได้จัดตั้งกองอํานวยการร่วม ประสานงานกับกองบัญชาการตํารวจนครบาล กองบังคับการตํารวจจราจร กองบังคับการตํารวจท่องเที่ยว และสถานีตํารวจนครบาลในพื้นที่ เพื่อร่วมกันดูแลและรักษาความปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ควบคุมดูแลพื้นที่ที่คาดว่า จะมีผู้คนมาร่วมงานหนาแน่น

จัดตั้งศูนย์ CCTV ติดตามเฝ้าสังเกต สถานการณ์ เพื่อจํากัดผู้ร่วมงานไม่ให้เกินปริมาณที่พื้นที่รองรับได้ จัดตั้งจุดบริการประชาชน บริเวณเส้นทางเข้า-ออกเมือง 7 จุด และ บริเวณสถานีขนส่ง 4 จุด รวม 11 จุด เตรียมความพร้อมบุคลากรและอุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉิน จัดเจ้าหน้าที่ประจําจุดเฝ้าระวังอันตราย เตรียมความพร้อมเครื่องมือกลและรถยกขนาดใหญ่ เตรียมความพร้อมด้านเจ้าหน้าที่ ด้านอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ และด้านเวชภัณฑ์ ทางการแพทย์

จัดเจ้าหน้าที่สนับสนุนในการร่วมอํานวยความสะดวกด้านจราจรและดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน จัดหน่วย ปฏิบัติงานพิเศษพร้อมเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์รถซ่อมเคลื่อนที่เร็วและรถยกลากจูง รณรงค์สร้างจิตสํานึกความปลอดภัยทางถนน ดูแลไฟฟ้าแสงสว่างในเส้นทางหลัก ๆ บริเวณพื้นที่จัดงานอย่างทั่วถึง

ตรวจสอบซ่อมแซมกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ให้มีความพร้อมในการใช้งาน จัดหน่วยซ่อม CCTV เคลื่อนที่เร็ว (หน่วย BEST) และรับแจ้งเหตุขัดข้องได้ตลอด 24 ชั่วโมง เชื่อมโยง CCTV พื้นที่ตรอกข้าวสารและบริเวณโดยรอบ รวมทั้งกล้องพื้นที่ใกล้เคียงท้ังหมด ประสานผู้รับจ้างตรวจสอบความเรียบร้อยพร้อมทั้งการ ให้บริการของสถานีรถไฟฟ้า BTS และสถานีรถ BRT

พร้อมทั้งเพิ่มความปลอดภัยโดยการเพิ่มศักยภาพให้แก่กล้อง CCTV โดยในปีนี้ได้มีการนําร่องใช้เทคโนโลยี AI กับกล้อง CCTV ในพื้นที่ถนนข้าวสารและบริเวณโดยรอบในเทศกาลสงกรานต์ 2567 ดังนี้

1. ระบบอ่านและบันทึกป้ายทะเบียน จํานวน 64 กล้อง 2. ระบบจดจําใบหน้า จํานวน 22 กล้อง (พื้นที่จัดงาน 16 กล้อง+จุดคัดกรอง 6 กล้อง) 3. ระบบวิเคราะห์ความหนาแน่นของ ฝูงชนบนถนนข้าวสาร จํานวน 4 กล้อง 4. ระบบนับจํานวนคน จานวน 6 กล้อง ใช้ร่วมกันกับระบบจดจําใบหน้าที่จุดคัดกรอง 5. ระบบค้นหาลักษณะของบุคคลหรือสิ่งของ 6. จัดหากล้องติดตามตัว จํานวน 30 กล้อง

“ผมว่าเป็นประเพณีที่ต้องมีความสุขกัน และเคารพสิทธิของผู้อื่น อย่าไปปะแป้งคนอื่น อย่าใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง งดการดื่มสุราในที่สาธารณะ ขอให้สนุกด้วยความสุภาพ และช่วยดูแลคนข้างเคียงด้วย” ผู้ว่าฯชัชชาติ กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน