เตรียมสถาปนา พื้นที่คุ้มครองชุมชนกะเหรี่ยง บ้านแม่ปอคี หวังเปลี่ยนทัศนคติต่อวิถีชีวิตคนบนดอย นักวิชาการชี้เป็นการรักษาทุนทรัพยากร-วัฒนธรรมไม่ให้ถูกทำลาย

วันที่ 24 เม.ย.2567 นายประหยัด เสือชูชีพ กลุ่มเยาวชนบ้านแม่ปอคี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เปิดเผยว่าในวันที่ 26 เม.ย. 2567 ชุมชนบ้านแม่ปอคี จะจัดงานสถาปนาพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์บ้านแม่ปอคี (ขุนแม่เหว่ย) เพื่อรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนไว้

โดยก่อนหน้านี้ได้มีการเก็บข้อมูลศึกษาวิจัยพบว่าการทำไร่หมุนเวียนแปลงใหญ่ของชาวบ้านเป็นการรบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด

ที่สำคัญคือทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการและเป็นการทำงานกันแบบเครือญาติโดยการ “เอามื้อ” กัน ได้พูดคุยกันและได้เห็นรอยยิ้มกัน นอกจากนี้การทำไร่หมุนเวียนแบบแปลงรวมนี้ยังช่วยให้สะดวกในเรื่องการจัดการไฟและใช้เวลาสั้นๆ ในการเผา

“เราคาดหวังว่าการประกาศเขตวัฒนธรรมครั้งนี้จะช่วยเปลี่ยนแปลงทัศนคติในทางลบที่มีต่อชุมชนและก่อให้เกิดความเข้าใจและเห็นใจในวิถีวัฒนธรรมของคนปกาเกอะญอ เราอยากให้เกิดกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและชุมชน และมีการสร้างเศรษฐกิจให้ชุมชนอยู่ได้” นายประหยัดกล่าว

ด้าน ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า การประกาศพื้นที่คุ้มครองของชุมชนแม่ปอคีครั้งนี้ เป็นความรู้สึกของชาวบ้านที่อยากจะให้มีพื้นที่เขตวัฒนธรรม ไม่ใช่ว่าชาวบ้านต้องการสิทธิพิเศษเหนือกว่าใคร

แต่เขาต้องการการปกป้องคุ้มครองทุนทางทรัพยากร ทุนวิถีวัฒนธรรมที่เขามี ไม่ให้ถูกภายนอกเข้ามากระแทกทำลายจนไม่เหลือ เพราะถ้าไม่เหลือทุนชาวบ้านก็ต้องพึ่งพาภายนอก 100% ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งความรู้ต่างๆ

“การประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษเป็นการปกป้องทุนของชุมชน ปกป้องสิทธิให้ชุมชนได้อาศัยทุนในการพัฒนาและยกระดับวิถีชีวิตของตนเองในอนาคตได้ และจะเป็นพื้นที่ต้นแบบ พื้นที่เรียนรู้ โดยเฉพาะใน จ.ตาก ที่เป็นพื้นที่ชายแดน เราได้แหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม กรณีศึกษาที่เป็นรูปธรรมในการคุ้มครองและพัฒนาต่อยอดวิถีชีวิตชาติพันธุ์ที่ยั่งยืนและเหมาะสมกับยุคสมัย








Advertisement

การประกาศพื้นที่นี้ไม่ใช่การแช่แข็งชุมชนให้กลับไปอยู่เหมือนอดีต เราจะปรับจะเปลี่ยนอย่างไร ตามความเหมาะสม ตามสถานการณ์ ตามเวลา แต่ไม่ใช่ถูกกำหนดจากข้างนอก โดยการประกาศนี้เป็นการเชื่อมโลกของชาติพันธุ์กับโลกร่วมสมัย เป็นโมเดลของการพัฒนาเชิงบูรณาการ”

ผศ.ดร.สุวิชาน กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ได้ทำวิจัยซึ่งเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ของเยาวชน ให้เป็นเครื่องมือสื่อสารเรื่องราวของตนเอง พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้เดิม ข้อค้นพบในงานวิจัยที่เยาวชนทำ คือ การจัดการทรัพยากรในพื้นที่ สัดส่วนใกล้เคียงกันคือที่อยู่อาศัยที่ทำกิน 52% และอีก 48% เป็นพื้นที่อนุรักษ์ เก็บข้อมูลประวัติศาสตร์โดยชุมชนอยู่มา 423 ปี ระบบการจัดการ การอนุรักษ์พื้นที่ป่าเป็นความสมดุลของการใช้และการดูแล

“เราเห็นว่าความมั่นคงทางอาหารที่ดำรงอยู่ได้ คือ วิถีเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ชุมชนเพาะปลูกพืชต่างๆ ในไร่หมุนเวียนถึง 80 กว่าชนิด บางชนิดกินได้ 3 เดือน บางชนิดปลูกเดือนเมษายน กินได้พฤษภาคมก็หมด แล้วมีพืชอื่นเกิด บางชนิดกินไปได้ถึงธันวาคม มีนาคม เมษายน เช่น เผือก มัน ปลูกครั้งเดียวได้กินทั้งปี แล้วพอรอบใหม่ก็ปลูกใหม่ เป็นวงจรความมั่นคงทางอาหารในไร่หมุนเวียน”

อาจารย์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวทิ้งท้ายว่า เราทำเรื่องของการเรียนรู้ร่วมกัน โลกเปลี่ยน ถนนเข้ามา เทคโนโลยีเข้ามา เราทำอย่างไร โดยพบว่าฐานทุนของชุมชนเป็นฐานสำคัญในการที่ทำให้ปรับตัวเพื่อเท่าทัน เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไร่หมุนเวียน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน