วันที่ 13 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.ไพศาล เกื้ออรุณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เปิดเผยถึงกรณีที่นายวัฒนชัย ศรีธรรม อายุ 47 ปี ผู้จัดการโครงการบริษัทไกรสุ คอนสตรัคชั่น จำกัด ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก รพ.ปากพนัง ที่ออกมาเปิดเผยถึงการรับเหมาก่อสร้างอาคารตึก 5 ชั้น ในวงเงิน 50.6 ล้านบาท เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 หลังผู้รับเหมารายเดิมที่รับเหมาก่อสร้างอาคารในวงเงิน 80 ล้านบาท ทิ้งงานหลังจากก่อสร้างไปได้ประมาณ 25 เปอร์เซ็น กระทั่งมีกระแสข่าวว่ามีข้าราชการระดับสูงเรียกเงิน 2 ล้านบาท และรถยนต์มิตซูบิชิ ปาเจโร่จากผู้รับเหมาก่อสร้าง

โดยทางนายวัฒนชัย ผู้รับเหมาระบุว่า ตามสัญญาจ้างได้ระบุข้อตกลงว่า จะจ่ายเงินค่าก่อสร้าง 8 งวด ซึ่งบริษัทได้ทำการก่อสร้างตามปกติตามสัญญา และเบิกจ่ายเงินมาแล้ว 7 งวด ยังคงเหลืองวดสุดท้าย 17 ล้านบาท โดยครบกำหนดจ่ายเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งทางผู้รับเหมาได้สร้างอาคารเสร็จแล้วตามสัญญา เหลือเพียงตกแต่งภายในไม่กี่รายการ และก่อนการตรวจรับงานงวดสุดท้าย ทางโรงพยาบาลได้ขอเข้าใช้อาคารก่อนเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2560 เนื่องจากปัญหาคนไข้ล้น รพ.และเวลาล่วงเลยมา 6 เดือนกว่าแล้วแต่ คณะกรรมการตรวจการจ้างไม่ยอมเซ็นชื่อรับงาน

ทางบริษัทได้พยายามติดต่อประสานงานแต่ก็ถูกเพิกเฉย และทางบริษัทได้มีการเข้าพบกับกรรมการท่านหนึ่งซึ่งเป็นแพทย์ แต่นายแพทย์ท่านนั้น ได้เรียกรับเงิน 2 ล้านบาท โดยระบุว่าหากไม่จ่ายเงิน ทางบริษัทจะมีปัญหาถูกปรับก่อสร้างล่าช้าไม่เสร็จตามสัญญา ทางบริษัทรับเหมา จึงไปพบกรรมการตรวจรับงานอีกคนที่เป็นคนสำคัญในการตรวจรับ คือนายช่างโยธาชำนาญงานที่กองแบบแผน กระทรวงสาธารณสุข แต่ถูกกรรมการคนดังกล่าวขอให้ซื้อรถยนต์มิตซูบิชิ ปาเจโร่ สปอร์ตให้ 1 คัน โดยบอกว่าอยากได้รถรุ่นนี้ แต่ทางผู้รับเหมาไม่ได้รับปาก

นอกจากนั้นนายวัฒนชัย ยังได้ทำหนังสือร้องเรียนยังนายกรัฐมนตรี แต่เรื่องก็ยังเงียบกว่า 2 เดือน เนื่องจากเป็นบริษัทรับเหมาเล็กๆ เป็นรายย่อย ต้องกู้เงินมาทำงาน และต้องจ่ายดอกเบี้ยธนาคาร และเครดิตกับร้านค้าวัสดุ หากต้องจ่าย 2 ล้าน และรถอีก 1 ล้านกว่าบาท รวมแล้วเกือบ 4 ล้านบาท ทำให้ไม่เหลือเงิน อีกทั้ง รพ.เองก็เปิดใช้อาคารไปกว่า 6 เดือนแล้ว แต่ผู้สร้างยังไม่ได้เงินค่าจ้าง จึงต้องมาร้องขอความเป็นธรรมดังกล่าว

ด้านนพ.ไพศาล ได้เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวที่ สำนักงานสาธารณะสุขจังหวัดว่า ทางสาธารณสุข จะตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีการร้องเรียนให้ละเอียด และเร่งด่วนที่สุด และจะเคร่งครัดในกระบวนการนี้ ตนก็ได้ให้ทีมงานไปตรวจสอบข้อมูลก็พบว่า มีการให้หนังสืออย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2560 พบว่า งานที่ส่งมอบนั้นไม่แล้วเสร็จในรายการต่างๆ

ในส่วนที่บอกว่า มีการเข้าไปใช้แล้ว แต่ไม่ยอมตรวจให้นั้น ก็ได้มีการประชุมติดตามเรื่องนี้เมื่อ 8 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการพัฒนารพ. และมีท่านวิรัตน์ รักษ์พันธ์ รองผู้ว่าฯ และตนเข้าร่วมประชุมด้วยก็พบว่าการเข้าไปใช้ตึกอาคารนั้น เป็นการยินยอมของทุกฝ่ายโดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์กับประชาชน ไม่ได้เข้าไปโดยพละการ และตนเห็นใจทุกฝ่าย และเคารพสิทธิ์ในการที่จะดำเนินการต่างๆ ตามกฏหมายในเรื่องราวที่ที่อยู่ในกรอบสิทธิตามกฎหมาย

ส่วนการแก้ปัญหา เบื้องต้นได้ตั้งกรรมการเพื่อตรวจสอบงานที่เหลือ หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการการจัดจ้างเป็นรายๆ ต่อไป สำหรับตึกนี้ได้มีการจัดจ้างเมื่อปี 2554 และมีการยกเลิกสัญญา และเซ็นสัญญาใหม่ในปี 2558 และยกเลิกสัญญารายนี้เมื่อต้นปี 2561 ซึ่งก็เป็นไปตามกระบวนการของราชการอยู่แล้ว จึงอยากจะชี้แจงว่า การดำเนินงานของ สาธารณสุขจังหวัด จะดำเนินการตามกระบวนการ จะไม่มีการเบี่ยงเบนไม่ว่าจะเป็นทุจริตหรืออย่างใด โดยการดำเนินการตรวจสอบนั้น จะใช้เวลาเดือนมีนาคมหนึ่งขั้นตอน เดือนเมษายนหนึ่งขั้นตอน และเดือนพฤษภาคม น่าจะเคลื่อนไปได้ ส่วนการตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็จะตั้งกรรมการตรวจสอบหากมีมูล ก็สอบต่อหากไม่มีมูลก็รายงานตามขั้นตอน

นพ.ไพศาล กล่าวในตอนท้ายว่า “ตนขอเรียนว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายให้ดีที่สุด”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน