เมื่อวันที่ 24 เม.ย. เว็บไซต์ไทม์รายงานว่าทีมนักวิทยาศาสตร์สรุปความเห็นที่ได้จากการค้นคว้า และตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ แอสโตรโนมี ว่าชั้นบรรยากาศที่อยู่เหนือดาวยูเรนัส หรือดาวมฤตยู เต็มไปด้วยแก๊สไข่เน่า กลิ่นคล้ายตดจริง และนับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการระบุว่าดาวยูเรนัสถูกปกคลุมด้วยเมฆแก๊สไฮโดรเจน ซัลไฟด์ หรือ เอช2เอส

ทีมนักวิทยาศาสตร์ใช้เครื่องมือที่เรียกว่าเนียร์-อินฟราเรด อินทีเกรล ฟิลด์ สเปคโตรเมเตอร์ หรือไอเอฟเอส ซึ่งเป็นวิธีการแบ่งแยกแสง หรือรังสีแม่เหล็กอื่นๆ ให้มาอยู่ในรูปของสเปกตรัม หรือ ความยาวของคลื่น จากกล้องส่องเจมินินอร์ธ ในมณรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา

นายแพตทริก เออร์วิน สมาชิกในทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ระบุว่าหากมนุษย์เดินทางไปสำรวจและร่อนลงจอดในดาวยูเรนัส กลุ่มนักเดินทางอาจจะต้องเจอเรื่องที่ไม่น่าดูชมเท่าไร อีกทั้งยังเจอกลิ่นที่แรงของดาวอีกด้วย

“สิ่งที่นักบินอวกาศจะเจอก่อนลงดาวยูเรนัส หากมีการเดินทางถึงในอนาคตคือความทรมาน และบรรยากาศที่มีความหนาวเย็นถึง -200 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นนักบินอวกาศถึงจะเผชิญหน้ากับกลิ่นเหม็น” นายเออร์วินกล่าว

นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังคาดเดาด้วยว่า เมฆบนดาวยูเรนัส และเนปจูน มีส่วนประกอบของแอมโมเนีย หรือเอ็นเอช 3 เหมือนกับแก๊สที่อยู่บนดาวจูปิเตอร์ และดาวเสาร์ แต่การศึกษาชิ้นใหม่นี้หาความแตกต่างระหว่างแก๊ส ที่อยู่บนดาวเคราะห์หนาวเย็นดังกล่าว ซึ่งโยงไปถึงการเกิดโลกได้อีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน