วันที่ 30 เม.ย. เดลี่เมล์ รายงานว่า เฟซบุ๊ก สื่อสังคมออนไลน์รายใหญ่ของโลก ขยายการใช้งานฟีเจอร์ปุ่ม “เห็นด้วย – ไม่เห็นด้วย” (upvote/downvote) ให้ผู้ใช้ร่วมกันตรวจสอบกรณีที่มีความเห็นไม่เหมาะสมและทำให้เกิดความเข้าใจผิด

เฟซบุ๊กอธิบายว่าปุ่ม “ไม่เห็นด้วย” นี้แตกต่างจาก “ไม่ถูกใจ” (dislike) ตรงที่เป็นฟีดแบ็ก ความเห็นตอบกลับถึงข้อความของผู้แสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสม ซึ่งหมายถึงมีเจตนาร้ายหรือไม่ให้ความเคารพ ส่งกลับมายังเฟซบุ๊ก

จากเดิมที่ทดลองใช้งานครั้งแรกกับผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวน 5 เปอร์เซ็นต์ ผ่านระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ในสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขณะนี้ขยายใช้ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

เฟซบุ๊กระบุว่าคุณสมบัติดังกล่าวมีความคล้ายคลึงเว็บไซต์ เรดดิต (Reddit) ที่ให้ผู้ใช้กดปุ่ม “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” กับโพสต์ต่างๆ เพื่อลดการเห็นโพสต์ต่างๆ ที่ไม่เป็นไม่ชื่นชอบลงไป

ปุ่ม “ไม่เห็นด้วย” ออกแบบมาเพื่อทดสอบว่าจะช่วยให้การถกเถียงในที่สาธารณะบนเฟซบุ๊กดีขึ้นหรือไม่ การทดสอบเดิมจะไม่มีการโชว์จำนวนยอดกดปุ่ม “ไม่เห็นด้วย” แต่ล่าสุด มีรูปแค็ปหน้าจอจากแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊กเผยแพร่ในทวิตเตอร์ ปรากฏจำนวนคนกดปุ่ม “ไม่เห็นด้วย”

พร้อมมีกล่องข้อความอธิบายการใช้งานฟีเจอร์ดังกล่าวว่า “กดปุ่มลูกศรขึ้นหากคุณคิดว่าคอมเมนต์นี้เป็นประโยชน์หรือมีสาระ การกดปุ่มของคุณจะไม่ระบุตัวตน” โดยฟีเจอร์ปุ่ม “ไม่เห็นด้วย” จะปรากฏก่อนปุ่ม “ถูกใจ” (like) และปุ่ม “ตอบกลับ” (reply)

เมื่อปี 2558 นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอเฟซบุ๊ก เคยกล่าวถึงฟีเจอร์ปุ่ม “ไม่เห็นด้วย” ว่า ไม่ต้องการสร้างปุ่ม “ไม่ถูกใจ” ขึ้นมาเนื่องจากไม่ต้องการให้เฟซบุ๊กกลายเป็นเว็บบอร์ดของการโหวตโพสต์ของคนอื่น เพราะไม่ใช่รูปแบบชุมชนอย่างที่เฟซบุ๊กสร้างขึ้นมา

(AP Photo/Jeff Roberson, File)

“สิ่งที่เราต้องการอย่างแท้จริงคือแสดงออกความเห็นอกเห็นใจ แม้ว่าไม่ใช่ทุกช่วงเวลาที่เป็นช่วงเวลาที่ดี” ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กกล่าวและอธิบายว่า คนอาจจะใช้ปุ่มไม่ชอบใจไปในทางลบอย่างใจร้ายและโหดร้าย

ทั้งนี้ เฟซบุ๊กอยู่ระหว่างการประชุมนักพัฒนาประจำที่เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ในสัปดาห์นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน