เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. เอเอฟพีรายงานความคืบหน้าความเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลพม่าในประเทศมาเลเซียว่า นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียขึ้นกล่าวปราศรัยในการชุมนุมที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 5,000 คน เรียกร้องให้นางออง ซาน ซู จี ในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของพม่า ดำเนินการยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์Ž ชาวมุสลิมโรฮิงยา หลังปฏิบัติการไล่ล่ากลุ่มลัทธิสุดโต่งในรัฐยะไข่ของกองทัพพม่าส่งผลให้มีชาวโรฮิงยาเสียชีวิตแล้วกว่าร้อยราย และอีกหลายพันคนต้องอพยพหนีตายข้ามไปยังบังกลาเทศ ทั้งยังมีรายงานว่า มีบ้านเรือนของชาวโรฮิงยาถูกเผาทำลายอีกกว่า 400 หลังคาเรือน แต่กองทัพพม่าปฏิเสธว่า เป็นฝีมือของกลุ่มลัทธิสุดโต่ง ที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มสุดโต่งนอกประเทศ

 

นายนาจิบ ราซัก นายกรับมนตรีมาเลเซีย/ เอเอฟพี

นายนาจิบ ราซัก นายกรับมนตรีมาเลเซีย/ เอเอฟพี

นายนาจิบกล่าวว่า ชาวโรฮิงยาที่หนีตายออกมาได้เล่าว่ากองทัพพม่ากระทำการฆ่า ทารุณกรรม และข่มขืนชาวบ้าน นางซู จี และรัฐบาลพม่าจำเป็นต้องยุติปฏิบัติการนี้ทันที รวมทั้งยืนยันว่ามาเลเซียจะปกป้องศาสนาอิสลามและสวัสดิภาพของชาวมุสลิม ตลอดจนกล่าวตั้งคำถามต่อนางซู จี ว่าไม่เห็นลงมือทำสิ่งใดทั้งที่เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี และสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ออกมาเคลื่อนไหวกดดันทางการพม่าด้วย เนื่องจากประชาคมโลกไม่สามารถทนมองเฉยๆ ได้อีกต่อไป

 

ชาวโรงฮิงยาประท้วงที่กรุงกัวลาลัมเปอร์/ เอเอฟพี

ชาวโรงฮิงยาประท้วงที่กรุงกัวลาลัมเปอร์/ เอเอฟพี

“มีประโยชน์อะไรที่นางออง ซาน ซู จี มีรางวัลโนเบลสันติภาพ เราต้องการบอกนางซู จี ว่า พอก็คือพอ เราต้องและเราจะปกป้องชาวมุสลิมและศาสนาอิสลาม” นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าว

รายงานระบุว่า ชาวโรฮิงยากว่า 10,000 คน อพยพข้ามพรมแดนเข้ามาพักพิงอยู่ในบังกลาเทศตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยชาวบังกลาเทศหลายคนให้สัมภาษณ์กับสื่อถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่สังกัดกองทัพพม่าที่ก่อเหตุข่มขืน ฆ่าและทารุณกรรม แม้กองทัพพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ แต่กลับไม่ยอมให้สื่อต่างชาติและหน่วยงานสากลเข้าไปในพื้นที่เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง

 

นางออง ซาน ซู จี ขณะเดินทางเยือนประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. /เอเอฟพี

นางออง ซาน ซู จี ขณะเดินทางเยือนประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. /เอเอฟพี

นายเจมส์ ชิน นักวิเคราะห์จากสถาบันเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยทาซมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า นายนาจิบกำลังพยายามสร้างภาพพจน์ทางการเมืองให้เป็นผู้นำในโลกมุสลิม ประเด็นปัญหาชาวโรฮิงยานั้นเป็นเพียงเครื่องมือ ขณะที่นางบริดเจ็ต เวลช์ นักวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัยอิเป็ก ประเทศตุรกี มองว่า หากนายนาจิบห่วงใยชาวโรฮิงยาจริง ก็น่าจะหันไปปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชาวมุสลิมในประเทศก่อนตั้งนานแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน