ผวาผู้หญิงมีลูก! ปมลึกๆ-แอนตี้ลับๆ คัดทิ้งสาวญี่ปุ่นอย่าให้เรียนแพทย์เยอะ

ผวาผู้หญิงมีลูก! – กรณีอื้อฉาวเขย่าสังคมญี่ปุ่นในนาทีนี้เป็นการเปิดโปงเรื่องที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศแอบกีดกันผู้หญิงอยู่ลับๆ ไม่ให้เข้ามาศึกษาวิชาการแพทย์กันมากนัก โดยทำมานานเป็นสิบปีแล้ว

นัยว่าถ้าไม่ถูกแฉก็คงจะทำกันไปอีกนานเท่านานเท่าที่จะทำได้

มหาวิทยาลัยการแพทย์โตเกียว / AFP

โยมิอูริ ชิมบุน หนังสือพิมพ์ทรงอิทธิพลของญี่ปุ่น รายงานเปิดโปงเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในรั้วมหาวิทยาการแพทย์โตเกียว หรือ Tokyo Medical University สถาบันอุดมศึกษาที่น่าเชื่อถือและมีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น แอบตัดคะแนนสอบเอ็นทรานซ์ของผู้สมัครหญิง เพื่อไม่ให้มีผู้หญิงเข้ามาเรียนมาก

เอกสารการตกแต่งคะแนนที่สอบพบ / Mainichi

การพบข้อมูลน่าตกตะลึงดังกล่าวเผยออกมาระหว่างการสอบสวนข้อครหาลูกชายของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการเข้าไปเรียนแพทย์ได้ เพราะมีการตกแต่งคะแนนเพิ่มให้ 49 คะแนน

ยิ่งเจาะลึกข้อมูลคะแนนยิ่งพบว่า ไม่ใช่เฉพาะลูกชายบิ๊กศธ.เท่านั้น แต่ผู้สอบเข้าชายทั้งหมดได้คะแนนมากกว่าผู้สอบเข้าหญิงอย่างมีพิรุธ กระทั่งพบว่านี่เป็นกลไกการกีดกันผู้หญิงที่สอบเข้าทั้งหมด

สถิติก่อนมาตรการนี้บังคับใช้ มีผู้หญิงสอบเอ็นทรานซ์เข้ามาเรียนแพทย์ที่สถาบันแห่งนี้ร้อยละ 40 เทียบกับปีนี้ มีผู้หญิงเข้ามาเรียนได้เพียง 30 คน เมื่อเทียบกับผู้ชายที่ได้เรียน 141 คน

 

กรณีนี้สะท้อนว่าญี่ปุ่นยังคงดำรงสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ แม้จะมีความพยายามจาก นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรี ที่ชูนโยบาย สร้างสังคมที่ผู้หญิงแสดงบทบาทŽ เพื่อยกระดับให้สตรีมีความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีผู้หญิงมากมายต้องเผชิญอุปสรรคและต้องพยายามขึ้นจากเดิมอีกหลายเท่าหากจะกลับมาทำงานหลังคลอดบุตร

นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ญี่ปุ่นมีอัตราการเกิดลดต่ำลง

++++++++

“เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องน่าอดสูจริงๆ เพราะใช้กระบวนการกลโกงคัดเลือกนักศึกษา ไม่เพียงบิดเบือนผู้เข้าสอบ ครอบครัวของพวกเขา เจ้าหน้าที่ของโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังเป็นสังคมทั้งหมด” นายเคนจิ นาไก ทนายความในคณะกรรมการสอบสวนกรณีนี้กล่าว และว่า ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้สะท้อนว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อต้านสตรีโดยแท้Ž

FILE – นักศึกษาสาวเดินเข้ามหาวิทยาลัยการแพทย์โตเกียว – Tokyo Medical University (Ayaka Aizawa/Kyodo News via AP, File)

นายเคนจิกล่าวว่า ยังไม่รู้ว่ามีผู้หญิงที่เคยเข้าสอบกี่คนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการแอบคัดทิ้งนี้ บอกได้แต่ว่ามาตรการลับนี้ทำกันมาอย่างน้อยหนึ่งทศวรรษแล้ว

ด้านผู้บริหารมหาวิทยาลัยเปิดแถลงขอโทษและโค้งคำนับต่อสาธารณชนผ่านสื่อ พร้อมสัญญาจะพิจารณาแก้ไข รวมถึงอาจชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบ แต่ยืนกรานว่าไม่ทราบว่ามีกระบวนการตกแต่งคะแนนแบบนี้มาก่อน

ผวาผู้หญิงมีลูก!

Tetsuo Yukioka, managing director of Tokyo Medical University (AP Photo/Eugene Hoshiko)

“สังคมเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และเราจำเป็นต้องปรับตัว องค์กรไหนที่ไม่เอื้อให้ผู้หญิงทำงานอันเป็นประโยชน์ได้ก็จะดำเนินไปอย่างอ่อนแอ” เท็ตสึโอะ ยูกิโอกะ กรรมการบริหารมหาวิทยาลัยกล่าว

มีงานวิจัยเรื่อง “ความยากลำบากในการทำอาชีพแพทย์ของผู้หญิงในญี่ปุ่น” นำโดย เคียวโกะ โคมูระ สำรวจสถานการณ์เมื่อปี 2554 ในสถาบันการแพทย์ 13 แห่งในญี่ปุ่น มีบทสรุปว่า หมอผู้หญิงเผชิญความยากลำบากในการทำงานต่อเนื่องด้วยชั่วโมงนาวนาน มีส่วนหนึ่งที่ขาดความมั่นใจว่าจะสร้างสมดุลในการทำหน้าที่แพทย์กับชีวิตส่วนตัว

ซีรีส์ญี่ปุ่น เผยบทบาทผู้หญิงในวงการแพทย์

นอกจากนี้ยังพบว่า แพทย์ชายและแพทย์หญิงที่เลือกเป็นโสด จะไม่ค่อยสนับสนุนให้แพทย์รุ่นใหม่ที่เป็นผู้หญิงแต่งงานมีลูก เพราะกลัวว่าตนเองจะต้องมาช่วยแบกรับภาระหน้าที่แทน เวลาที่แพทย์สาวๆ ต้องลาหยุดไปคลอด

ซีรีส์ญี่ปุ่นที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวงการแพทย์มีหลายเรื่องที่สะท้อนปัญหาและอุปสรรคของผู้หญิงสอดคล้องกับงานวิจัยชิ้นนี้เช่นกัน แต่อีกหลายเรื่องพยายามเขียนบทกระตุ้นให้ผู้หญิงแสดงบทบาทในแวดวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์มากขึ้น

++++++++

หนังสือพิมพ์ ไมนิจิ สื่อชั้นนำอีกแห่งของญี่ปุ่น เผยแพร่รายงานเปรียบเทียบให้เห็นว่า ประเทศพัฒนาแล้วชาติอื่นๆ ล้วนมีอัตราส่วนผู้หญิงเป็นแพทย์เพิ่มขึ้น ไม่ว่า สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และบรรดาชาติยุโรป
หลังเกิดข่าวอื้ออึงจากมหาวิทยาลัยการแพทย์โตเกียว ทางสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงโตเกียวทวีตข้อความทันทีว่า ขอเชิญนักศึกษาญี่ปุ่นไปศึกษาแพทยศาสตร์ในฝรั่งเศส

การแถลงข่าวขอโทษของผู้บริหารมหาวิทยาลัยการแพทย์โตเกียว (AP Photo/Eugene Hoshiko)

จากข้อมูลของกระทรวงการศึกษาขั้นสูง การวิจัยและนวัตกรรมของฝรั่งเศส ปี 2558-2559 มีนักศึกษาหญิงเรียนแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชสูง เป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 63.8 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 จากเมื่อสิบปีก่อน เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสเสนอกฎหมายสนับสนุนผู้หญิงให้ทำงานแพทย์ต่อไป หลังจากมีครอบครัวและคลอดบุตร

สถิติของสหภาพยุโรปเผยแพร่ว่า ฝรั่งเศสมีหมอผู้หญิงร้อยละ 44.3 ต่ำกว่าตัวเลขเฉลี่ยของสหภาพยุโรปที่มีร้อยละ 48.5 หรือเกือบครึ่ง

ซีรีส์ญี่ปุ่นเกี่ยวกับหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในวงการแพทย์

สำหรับเกาหลีใต้ เพื่อนบ้านของญี่ปุ่น มีหมอเป็นผู้หญิงในสัดส่วนร้อยละ 25 ใกล้เคียงกับญี่ปุ่น แต่ก็มีแนวโน้มที่ผู้หญิงสอบเข้ามหาวิทยาลัยการแพทย์ได้เพิ่มขึ้น จากปี 2536 มหาวิทยาลัยโซล มีร้อยละ 17 เพิ่มเป็นร้อยละ 38 ในปี 2556

ไมนิจิรายงานตบท้ายว่า การใช้วิธีตุกติกในกระบวนการเอ็นทรานซ์ของญี่ปุ่นนั้นเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก กรณีนักศึกษาแพทย์หญิงนี้ การตรวจสอบโดยคณะทนายสิ้นสุดลงแล้ว แต่ก็ไม่ได้เผยภาพทั้งหมดของเหตุการณ์ เพราะผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์จากการเอ็นทรานซ์ต้องไปมีหนทางชีวิตอื่นแล้ว ดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบกับกรณีอื้อฉาวที่เกิดขึ้นให้เต็มที่มากกว่านี้

+++++++++++++

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

อื้ออึงส.ส.ญี่ปุ่นแขวะ “สาวโสด” เป็นภาระของประเทศ แก่ตัวไปต้องอาศัยเงินรัฐ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน