นายพลมินอ่องไหล่ โผล่ตรวจน้ำท่วม นาทีถูกบี้หนักปมกวาดล้างโรฮิงยา

นายพลมินอ่องไหล่เอเอฟพี รายงานวันที่ 29 ส.ค. ว่า รัฐบาลพม่าปฏิเสธรายงานของคณะกรรมการอิสระระหว่างประเทศ ภารกิจค้นหาความจริงแห่งสหประชาชาติ (UN Fact-Finding Mission) กรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า ซึ่งนำเสนอข้อมูลหลักฐานว่า ทหารพม่าก่ออาชญากรรมต่อต้านมนุษยชาติ พร้อมฆาตกรรมหมู่ ทำร้ายร่างกาย ข่มขืน บังคับเป็นทาสกามต่อชาวโรฮิงยา ในช่วงเวลาที่ชาวโรฮิงยา 7 แสนคนหนีภัยออกจากรัฐยะไข่ไปบังกลาเทศ ในปี 2560

รายงานของทีมสอบสวนยูเอ็นดังกล่าวยังสรุปว่าต้องสอบสวนนายทหารระดับสูง 6 นาย รวมถึงพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ไหล่ ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ พร้อมเสนอให้ส่งเรื่องไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศ

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เดินทางตรวจพื้นที่เสียหายจากน้ำท่วม เมื่อ 29 ส.ค.2561 (Photo by Thet AUNG / AFP)

ขณะที่การประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่จัดขึ้นหลังรายงานชุดนี้เผยแพร่ รัฐบาลหลายประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สวีเดน เรียกร้องให้สอบสวนลงโทษผู้นำทหารพม่า

“จะต้องมีการพูดถึง และมีการรับฟังความจริงที่ว่ามีการกวาดล้างชาวโรฮิงยา” น.ส.นิกกี ฮาร์ลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ กล่าวในที่ประชุม หลังเรียกร้องพร้อมนานาประเทศให้นำตัวผู้นำทหารพม่าไปดำเนินคดีอาญาระหว่างประเทศ แต่ผู้แทนสหรัฐเว้นวรรคการใช้คำว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” โดยเลี่ยงไปใช้คำว่า “กวาดล้าง” แทน

นิกกี ฮาลีย์ กล่าวในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น (Photo by DOMINICK REUTER / AFP)

ด้านรัฐบาลพม่า โดยนายซอ ฮเทย์ โฆษกรัฐบาล กล่าวผ่านหนังสือพิมพ์โกลเบิล นิว ไลต์ ออฟ เมียนมา สื่อของรัฐบาลว่า “เราไม่ได้อนุญาตให้คณะภารกิจค้นหาความจริงของยูเอ็นเข้ามาในเมียนมา นั่นเป็นเหตุผลที่เราไม่เห็นด้วย และไม่ยอมรับข้อสรุปและทางออกที่จัดทำโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน”

ผู้อพยพชาวโรฮิงยาในบังกลาเทศ (Photo by Dibyangshu SARKAR / AFP)

โฆษกรัฐบาลพม่ากล่าวด้วยว่า คณะกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนของเมียนมาเองจะตอบโต้และแก้ไขข้อกล่าวหาอันผิดพลาดของหน่วยงานสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ ขอยืนยันว่าเมียนมาไม่เคยยอมรับการละเมิดสิทธิมนุษยชน หากมีหลักฐานหนักแน่น เช่น เทปบันทึก วันที่เกิดเหตุ จะต้องนำมามอบให้ก่อนการสอบสวนจะเริ่ม เพื่อรัฐบาลจะดำเนินคดีเอาผิดได้

วันเดียวกัน เอเอฟพีเผยแพร่ภาพ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ไหล่ เดินทางไปเยือนพื้นที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม จากเหตุน้ำทะลักจากเขื่อน บริเวณสะพานที่เสียหายใกล้กรุงเนปยีดอว์ เป็นการออกงานครั้งแรกหลังยูเอ็นเปิดรายงานฉบับอื้ออึงดังกล่าว

นายพลมินอ่องไหล่

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ไหล่่ ออกงานครั้งแรก หลังยูเอ็น เปิดรายงานหลักฐานการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Photo by Thet AUNG / AFP)

สำหรับนายทหารระดับสูงของพม่าถูกกดดันหนักขึ้นเรื่อยๆ จากกรณีนี้ แม้แต่องค์กรเอกชนอย่างเฟซบุ๊ก ยังลบบัญชีผู้ใช้งานของผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพพม่ารวม 18 บัญชี รวมถึงของพลเอกมิน อ่อง ไหล่ เพจอีก 52 เพจ และบัญชีอินสตาแกรมอีก 1 บัญชี เป็นกรณีแรกของโลกที่นายทหารและนักการเมืองถูกลบคัดทิ้งจากเฟซบุ๊ก เนื่องจากเห็นว่ากลายเป็นช่องทางปลุกระดมและเผยแพร่ความเกลียดชัง

การอพยพของชาวโรฮิงยา 2560

รายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ชิ้นหนึ่งเมื่อปีก่อนระบุว่า โพสต์ข้อความความคิดเห็นและภาพมากกว่า 1,000 โพสต์ที่มีเนื้อหาโจมตีชาวโรฮิงยาและชาวมุสลิม ความเห็นสุดโต่งเปรียบเทียบโรฮิงยาเป็นสุนัข เห็บ และตัวข่มขืน บ้างอาฆาตจะฆ่าแล้วนำร่างไปให้หมูกิน มีเพจหนึ่งเรียกร้องให้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิม

อ่านข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง :

เฟซบุ๊กเอาจริง!! สั่งแบน “มินอ่องไหล่” ผบ.สส.พม่า ระงับการเผยแพร่ความเกลียดชัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน