เมื่อวันที่ 4 ม.ค. เอเอฟพีรายงานความคืบหน้ากรณีเหตุรุนแรงภายในค่ายพักพิงชาวโรฮิงยาในรัฐยะไข่ ที่เกิดขึ้นหลังกองทัพพม่าระดมกำลังปราบปรามกลุ่มบุคคลที่กองทัพพม่าอ้างว่าเป็นพวกลัทธิสุดโต่ง ส่งผลให้ชาวโรฮิงยาเสียชีวิตจำนวนมาก และอีกหลายพันคนอพยพเข้าไปยังบังกลาเทศ พร้อมกล่าวหากองทัพพม่าว่าข่มขืน ทารุณกรรม และกวาดล้างกลุ่มชาวโรฮิงยา ตั้งแต่เดือนต.ค. 2559 ท่ามกลางบรรยากาศเฉลิมฉลองวันชาติพม่าครบ 69 ปี ตรงกับวันที่ 4 ม.ค. ของทุกปี ซึ่งพม่าได้เอกราชจากการเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิอังกฤษ

คณะกรรมาธิการสืบสวนข้อเท็จจริงยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ของทางการพม่าไม่ได้ใช้ความรุนแรงกับชาวโรฮิงยา แม้ก่อนหน้านี้จะมีตำรวจ 4 นาย ถูกจับกุม จากกรณีคลิปวิดีโอที่เผยให้เห็นบุคคลที่แต่งกายเหมือนเจ้าหน้าที่ของทางการพม่ารุมทุบตีชาวโรฮิงยาที่ถูกจับมานั่งรวมกลุ่มกันแพร่ไปตามโลกออนไลน์

ขณะที่นางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งชาติและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ข้อกล่าวหาข้างต้นนั้นไม่เป็นความจริง และยังคงต่อต้านแรงกดดันจากประชาคมโลกที่เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าดำเนินการปกป้องสวัสดิภาพของชาวโรฮิงยา รายงานยังระบุอีกว่า คณะกรรมาธิการดังกล่าวมีประธานเป็นอดีตนายพลจากกองทัพพม่า ที่เคยถูกสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดำด้วย

คณะกรรมาธิการสืบสวนข้อเท็จจริงของพม่า ระบุในรายงานถึงข้อกล่าวหาจากชาวโรฮิงยา หรือที่ฝ่ายพม่าเรียกว่า เบงกาลี แปลว่าชาวบังกลาเทศ ว่ากองทัพพม่าก่อเหตุข่มขืน วางเพลิง ฆ่า และทารุณกรรม รวมทั้งใช้กำลังบีบบังคับเพื่อขับไล่ออกจากพื้นที่ ว่าไม่เป็นความจริง สะท้อนจากการที่ศาสนสถานอย่างสุเหร่าและมัสยิดหลายแห่งยังตั้งอยู่
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการสืบสวนยังอ้างว่า ไม่พบหลักฐานเพียงพอที่บ่งชี้ถึงเหตุข่มขืน วางเพลิง การจับกุมโดยผิดกฎหมาย และการใช้ความรุนแรง โดยตั้งแต่ภารกิจเริ่มขึ้น มีพลเรือนถูกจับกุมอย่างถูกต้องจำนวน 485 คน แต่กลับไม่ระบุรายละเอียดว่าจับด้วยข้อหาใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน