ตัวอะไรแน่? โซเชียลแชร์ว่อน ภาพถ่ายลวงตา “อีกา” หรือ “อีแมว”

ตัวอะไรแน่? – เดลี่เมล์ รายงานวันที่ 29 ต.ค. ถึงกระแสความงุนงงในโซเชียลมีเดีย หลังจากปรากฏภาพถ่ายที่ของสิ่งมีชีวิตสีดำมีดวงตาสีเขียวว่าเป็นตัวอะไรกันแน่ โดยสังคมออนไลน์ต่างแชร์ภาพถ่ายดังกล่าวนานร่วมสัปดาห์เพื่อหาคำตอบ

เจ้าของภาพถ่ายดังกล่าว คือ นายโรเบิร์ต มากีร์ โพสต์ภาพที่เผยให้เห็นว่าเป็นด้านข้างสัตว์ตัวหนึ่งที่ยืนบนพื้นกระเบื้อง พร้อมระบุข้อความประกอบภาพถ่ายว่า “ภาพถ่ายของ “อีกา” นี้น่าสนใจมากเพราะว่า…จริงๆ แล้วมันคือแมวต่างหาก”

เมื่อมองลงไปในภาพถ่ายอย่างละเอียดจะเห็นเป็นแมวเงยหน้ามามองกล้องถ่ายภาพ ส่วนหูของแมวนั้นถูกลวงตาให้กลายเป็นจงอยปากของอีกา

อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายดังกล่าวกลายเป็นไวรัลในทวิตเตอร์อย่างรวดเร็ว มียอดไลก์ทะลุหลักแสน เนื่องจากหลายคนเมื่อเห็นภาพถ่ายลวงตานี้แล้ว ต้องวกกลับมาดูอย่างละเอียดกว่ามันคือตัวอะไรกันแน่จริงๆ

ยิ่งไปกว่านั้น มีชาวเน็ตหนึ่งลองนำภาพลวงตาดังกล่าวไปค้นหาภาพถ่ายจากกูเกิล ปรากฏว่ากูเกิลประมวลผลออกมาว่าเป็น “อีกา” แถมระบุชัดเจนด้วยว่าเป็น “อีกาอเมริกัน” ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นแมวดำต่างหาก

หลายคนในโลกออนไลน์ต่างนึกถึงรูปวาดลายเส้นลวงตา “เป็ดกับกระต่าย” ของ วิทท์เก็นชไตน์ นักปรัชญาชื่อดัง ที่สามารถมองได้เป็นทั้งเป็ดและกระต่ายในรูปเดียวกัน แล้วแต่สายตาคนจะมอง

การศึกษาวิจัยถึงเรื่องภาพลวงตา “เป็ดกับกระต่าย” ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Perception เมื่อไม่นานมานี้ชี้ว่า หากใครเห็นภาพลวงตาดังกล่าวได้แค่ เป็ด หรือ กระต่าย เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่สามารถเห็นทั้งสัตว์ทั้งสองชนิดในภาพเดียวกัน อาจตีความได้ว่าเป็นคนถูกหลอกได้ง่าย

ไคลี แมทธิวสัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา พบว่า กลุ่มคนตัวอย่างที่เข้าร่วมการศึกษาวิจัยพยายามที่จะเห็นกระต่ายในปากเป็ด ซึ่งเป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า สมองพยายามตีความข้อมูลเอง หากข้อมูลดังกล่าวนำเสนอโดยปราศจากบริบท

แมทธิวสันกล่าวด้วยว่า หากใครพยายามที่จะเห็นทั้งเป็ดและกระต่ายในภาพลวงตาดังกล่าว ก็มีแนวโน้มที่จะตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมได้ง่าย เนื่องจากจะเชื่อสิ่งที่เห็นโดยไม่คำนึงถึงบริบทมากขึ้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน