นิวยอร์กไทมส์รายงานวันที่ 11 ม.ค. ถึงการขึ้นเวทีกล่าวอำลาตำแหน่งผู้นำของนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่นครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ พร้อมนางมิเชล สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง และรองประธานาธิบดีโจ ไบเด็น แต่ละคนต่างน้ำตาไหลด้วยความซาบซึ้งในถ้อยคำสุนทรพจน์ ท่ามกลางฝูงชนที่มาสนับสนุนกว่า 18,000 คน

สุนทรพจน์ “คำต่อคำ” ในการกล่าวอำลาการทำงานมา 8 ปี ก่อนสิ้นสุดวาระในวันที่ 20 ม.ค.ของโอบามา (ตอนที่ 1) มีดังนี้

“ชาวอเมริกันของผม มิเชลและผมซาบซึ้งต่อความปรารถนาดีจากทุกท่านตลอดไม่กี่สัปดาห์มานี้ แต่คืนนี้เป็นคราวของผมที่จะกล่าวคำขอบคุณ

ไม่ว่าเราจะเคยเห็นตรงกันหรือแทบจะเห็นไม่ตรงกันเลย การสนทนาของผมกับท่าน – ชาวอเมริกัน – ไม่ว่าในห้องนั่งเล่น ในโรงเรียน ที่ฟาร์ม ที่พื้นโรงงาน ที่โต๊ะอาหารค่ำ หรือแม้แต่กระทั่งตามฐานทัพสหรัฐในดินแดนอันห่างไกล บทสนทนาเหล่านั้นคือสิ่งที่ยังทำให้ผมซื่อสัตย์ ทำให้ผมมีแรงบันดาลใจ และทำให้ผมเดินหน้าต่อ และทุกๆ วัน ผมได้เรียนรู้จากท่าน ท่านคือคนที่ทำให้ผมเป็นประธานาธิบดีที่ดีขึ้น และเป็นคนที่ดีขึ้น

AFP PHOTO / Joshua LOTT

ครั้งแรกที่ผมมาที่ชิคาโก ผมยังอยู่ในวัย 20 ปีต้นๆ อยู่ในช่วงค้นหาตัวเอง ว่าผมเป็นใคร มาจากไหน มีเป้าหมายอะไรในชีวิต จนกระทั่งพบย่านที่อยู่ไม่ไกลจากที่นี่ เป็นสถานที่ที่ผมเริ่มทำงานกับกลุ่มโบสถ์ในเงาของเหล่าโรงงานเหล็กที่ปิดตัวลง

บนถนนหนทางหลายเส้นที่อยู่แถวนี้นี่แหละที่ผมประจักษ์กับตัวเองถึงพลังของศรัทธา และการทำงานแบบปิดทองหลังพระของบรรดาผู้ทำงานการกุศลที่เผชิญกับการดิ้นรนและสูญเสีย

(เสียงฝูงชนตะโกนซ้ำๆ ว่า อยู่ต่ออีก 4 ปี โอบามายิ้มและพูดตอบว่า ผมทำอย่างนั้นไม่ได้หรอกครับ)

ครับ ตรงนี้เองที่ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคนปกติธรรมดาทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วม เข้ามาเกี่ยวพัน และรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น

หลังจากเป็นประธานาธิบดีของท่านมา 8 ปี ผมยังคงเชื่อเช่นนั้น และไม่ใช่ความเชื่อของผมเท่านั้น แต่เป็นหัวใจของอุดมการณ์อเมริกันของเราที่เต้นอยู่ และของการทดสอบอย่างชัดเจนในการปกครองตนเอง

นี่เป็นความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า เราทุกคนถูกสร้างมาเท่าเทียมกัน และได้รับมอบสิทธิมาอย่างเท่าเทียมกันจากพระผู้สร้างด้วยสิทธิที่ไม่อาจโอนกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการมีชีวิต เสรีภาพ และการแสวงหาความสุข

การยืนหยัดของสิทธิเหล่านี้ แม้รับรู้ได้ว่ามีอยู่จริง แต่ไม่เคยดำเนินการโดยตัวมันเองได้ ดังนั้นพวกเรา ประชาชนต้องสร้างให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้ ผ่านกลไกทางระบอบประชาธิปไตยของเรา

นี่เป็นรากทางความคิดที่แจ่มแจ้งอะไรเช่นนี้ เป็นของขวัญชิ้นเยี่ยมที่บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งประเทศชาติของเราได้มอบไว้ให้ อิสรภาพที่จะไล่ตามความฝันของแต่ละบุคคลให้เป็นจริงด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย การตรากตรำ และจินตนาการของตัวเอง ด้วยความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน เพื่อบรรลุสิ่งที่ดียิ่งขึ้นไปร่วมกัน

อเมริกาก่อตั้งมานาน 240 ปีแล้ว การให้สิทธิเป็นพลเมืองอเมริกันของชาติเรา การสร้างงานและจุดมุ่งหมายในชีวิตที่ให้กับคนแต่ละรุ่นเสมอมา เป็นสิ่งที่ทำให้เหล่าผู้รักชาติ เลือกความเป็นสาธารณรัฐเหนือระบบทรราชย์ ทำให้ผู้บุกเบิกเดินทางมาฝั่งตะวันตก เหล่าทาสลุกขึ้นไขว่คว้าหาหนทางไปสู่เสรีภาพ

นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพพยายามที่จะข้ามน้ำข้ามมหาสมุทรและข้ามแม่น้ำริโอแกรนด์ นี่เป็นสิ่งผลักดันให้สตรีขอมีสิทธิมีเสียงในการเลือกตั้ง นี่เป็นสิ่งที่ให้พลังแก่ผู้ใช้แรงงานรวมตัวกันเป็นสหภาพ นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เหล่าทหารสละชีวิตที่โอมาฮา บีช และอิโว จิมะ ที่อิรักและอัฟกานิสถาน และนี่เป็นเหตุผลที่เหล่าบุรุษและสตรีจากเซลมาถึงสโตนวอลล์ (การต่อสู้เพื่อสิทธิคนผิวดำจนถึงการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของบุคคลเพศทางเลือก) พร้อมที่จะอุทิศตนเองเช่นกัน

(เสียงปรบมือ)

นี่เองคือสิ่งที่เราสื่อถึง เวลาเราพูดว่าอเมริกานั้นสุดพิเศษ ไม่ใช่เพราะประเทศชาติเราไร้จุดบกพร่องตั้งแต่เริ่มต้น แต่เพราะพวกเราแสดงศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลง และทำให้ชีวิตดีขึ้นสำหรับผู้ที่ตามเรามา

แน่นอนว่าพัฒนาการของเราบางทีก็ลุ่มๆ ดอนๆ การทำงานของประชาธิปไตยยากเสมอ เต็มไปด้วยการโต้แย้ง บางครั้งถึงขั้นเลือดตกยางออก ในการก้าวไปข้างหน้าทุกๆ 2 ก้าว มักทำให้รู้สึกว่าเราถอยหลังไปก้าวหนึ่ง แต่ในภาพรวมแล้ว อเมริกามีทิศทางก้าวไปข้างหน้า ค่อยๆ ขยายหลักความเชื่อเพื่อรองรับทุกคน ไม่ใช่เพียงบางคน

ถ้าผม (หาเสียง) บอกกับท่านเมื่อ 8 ปีก่อนว่า อเมริกาจะหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ ปลุกอุตสาหกรรมรถยนต์คืนมา และปลดล็อกให้มีการเพิ่มตำแหน่งงานยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของเรา – และถ้าผมบอกท่านว่า เราจะเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของกับประชาชนชาวคิวบา เราจะปิดโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านโดยไม่ต้องใช้กระสุนยิงกันสักนัด หรือจัดการกับผู้บงการก่อวินาศกรรม 9/11 – ถ้าผมบอกท่านว่า เราจะทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิในการสมรสอย่างเท่าเทียมได้ ทำให้พลเมืองของเราอีกกว่า 20 ล้านคนเข้าถึงสวัสดิการประกันสุขภาพขั้นพื้นฐาน – ถ้าผมบอกกับท่านถึงเรื่องทั้งหมดเหล่านี้ ท่านอาจบอกว่าเราเล็งสูงเกินไป

แต่ทั้งหมดนั้นพวกเราทำได้แล้ว นั่นล่ะคือสิ่งที่ท่านทำได้ ท่านคือความเปลี่ยนแปลงนั้น นี่คือคำตอบสำหรับความคาดหวังของประชาชน และเป็นเพราะท่าน ในเกือบทุกมาตรการ อเมริกาถึงดีขึ้น แข็งแกร่งขึ้นกว่าเมื่อตอนที่เราเริ่มต้น

ในอีก 10 วัน โลกจะได้เป็นประจักษ์พยานถึงจุดแข็งในระบอบประชาธิปไตยของเรา การเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติจากประธานาธิบดีผู้มาจากการเลือกตั้งเสรีคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ผมยืนยันกับว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์แล้วว่าจะทำให้กระบวนการทั้งหมดดำเนินไปอย่างราบรื่นที่สุด เหมือนกับสมัยที่อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ทำให้ผม

เพราะความจริงแล้ว ทั้งหมดขึ้นอยู่กับเราที่จะทำให้รัฐบาลช่วยเรารับมือกับอุปสรรคปัญหามากมายที่ยังเผชิญอยู่ เรามีสิ่งที่จำเป็นต้องมี เรามีทุกอย่างพร้อมที่จะเผชิญความท้าทายเหล่านั้น และสุดท้ายแล้ว เรายังคงเป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุด ทรงอำนาจที่สุด และได้รับความนับถือบนโลกใบนี้

ความเป็นวัยเยาว์ พลังขับเคลื่อนของเรา ความหลากหลายของเรา และการเปิดกว้างของเรา รวมทั้งศักยภาพในการเผชิญหน้ากับความเสี่ยงและการปฏิรูป คือสิ่งที่สะท้อนว่า อนาคตควรต้องเป็นของเรา แต่ศักยภาพที่ว่านี้จะเป็นที่ตระหนักได้ต่อเมื่อประชาธิปไตยของเราทำงานได้ ต่อเมื่อการเมืองสะท้อนเจตนารมย์ของปวงชน พวกเราทุกคนไม่ว่าจะสังกัดพรรคการเมืองใด มีผลประโยชน์ใด ร่วมใจกันทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเป็นสิ่งที่อเมริกากำลังต้องการอย่างที่สุดในตอนนี้

สิ่งนี้เองคือสิ่งที่ผมอยากจะพูดกับพวกท่านในคืนนี้ ว่าด้วยสถานการณ์ของประชาธิปไตยของเรา เพื่อจะเรียนรู้ประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องมีอะไรเหมือนกันไปทุกสิ่ง

บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งชาติของเราเคยถกเถียง ทะเลาะกัน แต่สุดท้ายพวกเขาประนีประนอมกัน และก็คาดหวังให้ลูกหลานอย่างเราปฏิบัติเช่นนั้น พวกเขาก็รู้ดีว่าประชาธิปไตยนั้นต้องดำรงด้วยความมีเอกภาพ ด้วยอุดมการณ์นั้น เพื่อความแตกต่างที่เห็นได้นั้น เราต่างร่วมทุกข์ร่วมสุข รุ่งโรจน์หรือถดถอยในฐานะหนึ่งเดียวกัน

มีบางเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่คุกคามป็นเอกภาพนั้น การเริ่มต้นของศตวรรษนี้ก็ถือเป็นหนึ่งในนั้น เมื่อโลกเล็กลง ความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงทางประชากร และความหวาดกลัวต่อการก่อการร้าย อุปสรรคเหล่านี้ไม่ได้แค่ทดสอบความมั่นคงและความมั่งคั่งของเรา แต่ยังทดสอบประชาธิปไตยของเราด้วยเช่นกัน

การที่เรารับมือกับความท้าทายที่ว่านี้ผ่านกลไกทางด้านประชาธิปไตยจะเป็นสิ่งชี้วัดความสามารถของเราในการเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกหลาน สร้างงาน และปกป้องประเทศชาติของเรา

พูดง่ายๆ ก็คือ นี่จะเป็นสิ่งกำหนดอนาคตของพวกเรา เพื่อจะเริ่มต้น ประชาธิปไตยจะทำงานไม่ได้ หากปราศจากความรู้สึกว่าทุกคนต่างมีโอกาสทางเศรษฐกิจ

(เสียงปรบมือ)

จบตอนที่ 1

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน