อึ้งพบขยะพลาสติก ยานใต้น้ำดำ 11 ก.ม. ร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา

อึ้งพบขยะพลาสติก – วันที่ 13 พ.ค. บีบีซี รายงานการสำรวจร่องลึกก้นสมุทร มาเรียนา ในมหาสมุทรแปซิฟิก ลงไปลึกถึง 10,994 เมตร ทุบสถิติเดิมเมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้ว ที่ระดับความลึก 10,927 กิโลเมตร แต่ระหว่างภารกิจในครั้งล่าสุดนี้ นักสำรวจกลับพบ “ขยะพลาสติก” ตรงก้นทะเลของจุดลึกที่สุดของโลกด้วย

นายวิกเตอร์ เวสโคโว นักสำรวจพร้อมทีมงาน สำรวจก้นสมุทรมาเรียนกว่า 4 ชั่วโมง ด้วยยานสำรวจน้ำลึก DSV Limiting Factor ที่ออกแบบมาเพื่อทนต่อแรงดันน้ำมหาศาลจากใต้มหาสมุทรถึง 1,000 บาร์ หรือเทียบเท่าน้ำหนักของเครื่องบินเจ็ต 50 ลำ

ทีมงานพบสัตว์น้ำเปลือกแข็งเหมือนกุ้ง 4 สายพันธุ์ใหม่ ที่มีชื่อว่า “แอมฟิพอด” (amphipods) และพบสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “หนอนช้อน” (spoon worm) ที่ระดับความลึก 7,000 เมตร และ “ปลาหอยทากชมพู” (pink snailfish) ที่ระดับความลึก 8,000 เมตร

นอกจากนี้ ทีมนักสำรวจพบโขดหินที่มีสีสดใส ซึ่งคาดว่าเกิดจากจุลินทรีย์จากก้นทะเล และเก็บตัวอย่างของหินจากก้นทะเลเพื่อนำมาศึกษา อีกทั้งพบ ถุงพลาสติก กับ พลาสติกห่อลูกอม ด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากขยะพลาสติกหลายพันล้านตันทุกปีที่ไหลบ่าลงสู่มหาสมุทร แต่น้อยคนที่จะทราบว่าขยะเหล่านี้ไปสิ้นสุดที่ไหน

นักวิทยาศาสตร์วางแผนทดสอบสัตว์ใต้ทะเลที่เก็บเป็นตัวอย่างมาเพื่อดูว่าสัตว์พวกนี้มี ไมโครพลาสติก หรือไม่ เนื่องจากการศึกษาล่าสุดพบว่าเป็นปัญหาวงกว้าง แม้กระทั่งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลด้วย

การสำรวจร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนาเป็นส่วนหนึ่งของ ไฟว์ ดีพส์ (Five Deeps) หรือการสำรวจจุดลึกที่สุดในแต่ละมหาสมุทร 5 แห่งของโลก

ก่อนหน้านี้ ทีมงานของนายเวสโคโวดำสำรวจร่องลึกก้นสมุทรไปแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ ร่องลึกก้นสมุทรเปอร์โตริโก ในมหาสมุทรแอตแลนติก ดำลึกไปถึง 8,376 เมตร ร่องลึกก้นสมุทรเซาท์แซนด์วิช ในมหาสมุทรแอนตาร์กติก 7,433 เมตร และ ร่องลึกก้นสมุทรชวา ในมหาสมุทรอินเดีย 7,192 เมตร

ส่วนเป้าหมายสุดท้าย คือ ร่องลึกก้นสมุทรมอลลอยดีพ ในมหาสมุทรอาร์กติก มีกำหนดในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ นายเวสโคโวเป็นนักลงทุนภาคเอกชน เป็นผู้ออกทุนการดำสำรวจ 5 ก้นร่องลึกสมุทรของโลก และก่อนจะหันมาให้ความสนใจกับความลึกของมหาสมุทร เจ้าตัวเคยปีนยอดเขาสูงสุดใน 7 ทวีปของโลกมาแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน