เกาะสวรรค์ผันเป็นเกาะขยะ เกลื่อน 414 ล้าน..ชิ้น !! ประชากรแค่ 500 คน

เกาะสวรรค์ผันเป็นเกาะขยะซีเอ็นเอ็น รายงานการศึกษาวิทยาศาสตร์ของออสเตรเลียว่าขยะพลาสติกบนชายฝั่งมากถึง 4,140,000 ชิ้น บนเกาะโคโคส หรือเกาะ คีลิง ดินแดนห่างไกลของออสเตรเลีย ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย มีน้ำหนักรวม 238 ตัน

ในจำนวนนี้เป็นรองเท้าเกือบ 1 ล้านข้าง และแปรงสีฟันมากกว่า 370,000 ด้าม ทั้งที่จำนวนประชากรบนเกาะดังกล่าวมีเพียง 500 คน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของออสเตรเลีย

หมู่เกาะโคโคส มีเกาะเล็กเกาะน้อยอยู่ 27 เกาะ ส่วนใหญ่ไม่มีคนอยู่อาศัย อยู่ห่างจากเมืองเพิร์ธ บนเกาะใหญ่ของออสเตรเลีย 2,750 ก.ม. เป็นจุดหมายท่องเที่ยว เคยมีฉายาว่า แดนสวรรค์แห่งสุดท้ายที่ยังไม่ถูกรบกวนของออสเตรเลีย

แต่เมื่อการสำรวจล่าสุดของทีมมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย พบขยะเกลื่อนมหาศาลตามหมู่เกาะแห่งนี้ จึงกลายเป็นว่าเกาะสวรรค์ผันเป็นเกาะขยะแล้ว เต็มไปด้วยสิ่งของที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่ว่า ขวด ฝาขวด หลอด รองเท้า รองเท้าแตะ

เจนนิเฟอร์ เลเวอรส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาในระบบนิเวศ ประจำมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย กล่าวว่า มลพิษจากพลาสติกขณะนี้มีอยู่ทุกหนแห่งในมหาสมุทร และบรรดาเกาะที่อยู่ห่างไกลก็กลายเป็นแหล่งรองรับเศษซากพลาสติกที่ไหลเวียนไปทั่วโลก

เลเวอรส์กล่าวว่า จำนวนชิ้นขยะที่สรุปออกมาเป็น 414 ล้านชิ้นนนี้เป็นแค่ตัวอย่างที่เก็บมาจากความลึกที่ 10 เซนติเมตรเท่านั้น และยังมีอีกหลายหาดที่ยังไปไม่ถึง แต่เป็นจุด ฮอตสปอต ที่มีเศษซากขยะเกลื่อนอยู่

เกาะสวรรค์ผันเป็นเกาะขยะ

อย่างเมื่อปี 2560 มีการพบว่า เกาะเฮนเดอร์สันในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ มีจำนวนขยะพลาสติกหนาแน่นที่สุดในโลก ส่วนหมู่เกาะโคโคส แม้มีขยะหนาแน่นน้อยว่า แต่ระดับปริมาณสูงกว่าถึง 38 ล้านชิ้น รวมน้ำหนักเยอะกว่าที่ 17 ตัน

อาร์เน็ตต์ ฟิงเกอร์ ผู้ทำงานวิจัยร่วมชิ้นนี้ กล่าวว่า เฉพาะปี 2553 มีขยะพลาสติกไหลลงมาในมหาสมุทรแล้ว 12.7 ล้านตัน หรือคิดเป็น 5.25 ล้านล้านชิ้น เป็นอันตรายมากต่อชีวิตสัตว์และพืชในทะเล และมีผลต่องานวิจัยทางการแพทย์สำหรับมนุษย์ด้วย

“ทางออกเดียวที่พอเห็นตอนนี้คือต้องลดการผลิตพลาสติกลง พร้อมกับปรับปรุงระบบการจัดการขยะเพื่อลดการไหลลงมหาสมุทรเป็นอย่างแรก” นักวิจัยหญิงกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน