เมื่อวันที่ 21 มี.ค. บีบีซีรายงานว่าศาลฎีกาอินเดียมีคำวินิจฉัยให้ชาวฮินดูและชาวมุสลิมหาทางออกจากปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาในพื้นที่พิพาทรุนแรงตั้งแต่ปี 2535 ในเมืองอโยธยา รัฐอุตตรประเทศ ทางตอนเหนือของอินเดีย ด้วยการเจรจาไกล่เกลี่ยนอกศาล

ความรุนแรงที่ปะทุขึ้นเมื่อปี 2535 นั้น เริ่มจากกลุ่มชาวฮินดูบุกเข้าทำลายมัสยิดสมัยศตวรรษที่ 16 เพราะต้องการพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเชื่อว่าเดิมเป็นสถานที่เกิดของพระราม จนบานปลายเป็นเหตุจลาจล คร่าชีวิตเกือบ 2,000 ราย ขณะที่ชาวมุสลิมต้องการสร้างมัสยิดใหม่ขึ้นมาแทน

แฟ้มภาพเหตุการณ์เมื่อ 6 ธ.ค.2535 กลุ่มฮินดูสายเคร่งบุกทำลายกำแพงมัสยิดบาบรี / AFP

หัวหน้าผู้พิพากษา เจเอส เคฮาร์ กล่าวว่าคดีนี้เป็นคดีที่อ่อนไหวและต้องมีการแก้ปัญหาด้วยการเจราจา และผู้พิพากษาท่านนี้เสนอเป็นคนกลางการเจรจาของทั้งสองฝ่าย

การไต่สวนคดีนี้มีมาต่อเนื่องมาเป็นระยะนับจากปี 2554 ตามคำวินิจฉัยยาว 8,500 หน้าของศาลอุทธรณ์ สรุปได้ว่า พื้นที่ 2 ใน 3 ของเขตพิพาทต้องตกเป็นของฝ่ายฮินดูและที่เหลือเป็นของกลุ่มมุสลิม

ในคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อัลลาฮาบัด เมื่อเดือนกันยายนปี 2553 ระบุถึงข้อพิพาทหลัก 3 ประการ ประกอบด้วย พื้นที่เกิดเหตุเป็นสถานที่เกิดของพระราม มัสยิดสร้างขึ้นหลังการทำลายวัดฮินดูไปแล้ว และการสร้างมัสยิดเป็นไปไม่ถูกต้องตามข้อบัญญัติของอิสลาม ส่วนคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นระบุเช่นกันว่า สถานที่ดังกล่าวเป็นที่ประสูติของพระราม เทพของฮินดู

ต่อมาชนทั้งสองศาสนาต่างยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยถึงศาลฎีกา จนกระทั่งมีคำวินิจฉัยเป็นเด็ดขาดให้สองฝ่ายเจรจาไกล่เกลี่ยกัน คดีนี้ตอกย้ำถึงกระบวนการศาลที่ยืดเยื้อยาวนานของอินเดีย จนคู่กรณีแต่แรกเริ่มนั้นต่างเสียชีวิตไปแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน