แมลงสาบดื้อยาฆ่า นักวิทย์ช็อกซินีม่า ยาฆ่าแมลงเริ่มไร้ผล เหตุแมลงสาบพัฒนาส่งต่อยีนส์ดื้อให้กัน

แมลงสาบดื้อยาฆ่า นักวิทย์ช็อกซินีม่า – วันที่ 4 ก.ค. อินดิเพนเดนท์รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริกาค้นพบว่าแมลงสาบกำลังเพิ่มจำนวนและพัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้แมลงสาบรุ่นใหม่ต่อต้านสารเคมีและยาฆ่าแมลงของมนุษย์ ทำให้ถูกกำจัดได้ยากขึ้นไปอีก

การค้นพบดังกล่าวเป็นผลงานของคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเพอร์ดู เมือง เวสต์ลาเฟียตต์ ในรัฐอินเดียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า แมลงสาบที่รอดชีวิตจากยาฆ่าแมลง จะใช้เวลาพัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็วกลับมาต่อต้านยาชนิดดังกล่าว และส่งยีนส์นี้ให้ลูกหลานด้วย

การค้นพบยังดังกล่าวยิ่งน่าตกใจมากขึ้น เมื่อคณะนักวิจัยดังกล่าวพบว่า นอกจากการพัฒนาตัวเองให้ดื้อยาขนิดที่เคยโดนแล้วยังนำไปสู่การสร้างยีนส์ต่อต้านยาฆ่าแมลงขนิดอื่นๆ อีกด้วย เรียกว่า การดื้อยาข้ามกลุ่ม (cross-resistance)

แถลงการณ์ของนักวิจัย ระบุว่า “เราไม่เคยทราบมาก่อนว่าเรื่องแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้รวดเร็วขนาดนี้” และว่า “แมลงสาบสามารถพัฒนาความสามารถในการต่อต้านยาฆ่าแมลงที่ใช้กับพวกมันได้ 4-6 เท่า ในช่วงเจเนอเรชั่นเดียว”

รายงานระบุว่า แมลงสาบตัวเมีย มีความสามารถในการวางไข่ได้ถึง 50 ฟอง ทุกๆ 3 เดือน และส่งต่อยีนส์ดื้อยาให้กับลูกๆ ของมัน ดังนั้นแม้มีแมลงสาบจำนวนไม่มากที่มีชีวิตรอดจากยาฆ่าแมลง ก็จะส่งผลให้ประชากรในรุ่นต่อไปเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมหาศาลได้

ศาสตราจารย์ไมเคิล ชาร์ฟ หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า แมลงสาบกำลังพัฒนาตัวเองให้ต่อต้านสารเคมีหลายชนิดภายในคราวเดียว ส่งผลให้การกำจัดแมลงสาบด้วยสารเคมีอย่างเดียวจะไม่ได้ผลอีกต่อไป

ด้านการทดลองนักวิทยาศาสตร์ใช้การพ่นยาฆ่าแมลง 3 ชนิด ต่อแมลงสาบใยรัฐอินเดียนา และอิลลินอยส์ โดยจะเปลี่ยนชนิดของยาวนไปจนครบ 3 ชนิด ทุกๆ 6 เดือน พบว่า จำนวนของแมลงสาบคงที่ และไม่ได้ลดลง

ต่อมาเมื่อนักวิทยาศาสตร์ทดลองใช้ยาฆ่าแมลงพร้อมกัน 2 ชนิด ผลปรากฎว่า ประชากรแมลงสาบเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และหากใช้เพียงชนิดเดียวพบว่าประชากรจะลดลงต่อเมื่อเป็นแมลงสาบพวกที่ยังไม่มียิีนส์ดื้อยาเท่านั้น แต่หากมีแมลงสาบที่ต่อต้านสารเคมีอยู่เพียงร้อยละ 10 ก็จะกลับมาเพิ่มจำนวนอีก

อย่างไรก็ตาม คณะนักวิจัยสรุปว่า สารเคมียังควรเป็นอาวุธหลักในการใช้ควบคุมประชากรของแมลงสาบ หากไม่ได้ผลควรใช้ร่วมกับกรรมวิธีอื่น อาทิ กับดักกำจัด เครื่องดูดฝุ่น (ดูดเอาไปทิ้ง) และการรักษาอนามัยในที่อยู่อาศัย

ทั้งนี้ แมลงสาบ อาศัยตามแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์เป็นหลัก โดยชื่นชอบสถานที่อับชื้น เช่น ท่อระบายน้ำ ท่อของเสีย และห้องน้ำ มีสารที่กระตุ้นให้เกิดโรคหอบหืดได้ในบางคน ทั้งยังเป็นพาหะของเชื้อก่อโรคหลายชนิดอาทิ สกุลซาโมเนลลา (อุจจาระร่วง) และอี. โคไล รวมทั้งปรสิตอีก 6 ชนิด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน