ประเด็นร้อนกลางอากาศ ควรให้คนนำสัตว์บำบัด ขึ้นเครื่องบินด้วยหรือไม่

ประเด็นร้อนกลางอากาศ – ซีเอ็นเอ็น รายงานถึงประเด็นถกเถียงในสังคมอเมริกัน ว่าควรอนุญาตให้สัตว์เลี้ยงเพื่อปลอบประโลมใจ หรือ อีเอสเอ ของผู้โดยสาร ขึ้นเครื่องบินด้วยหรือไม่ หลังจากมีคนนำมากขึ้นเรื่อยๆ อ้างว่าเพื่อผ่อนคลายความเครียดระหว่างนั่งเครื่องบิน

เช่น แฮมเลต เป็น “หมูบินได้” ที่ขึ้นเครืื่องบินของสายการบินเวอร์จิน ไอส์แลนด์ ได้นั่งในห้องโดยสารกับเมแกน พีบอดี วัย 31 ปี เพราะมันเป็นสัตว์ที่คอยปลอบประโลมใจเจ้านายให้คลายความวิตกกังวลเมื่อขึ้นเครื่องบิน

แต่เรื่องนี้มีข้อครหาถึงเจ้าของส้ตว์ ว่าต้องการหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าธรรมเนียมขนส่งสัตว์หรือไม่

ประเด็นร้อนกลางอากาศ

Courtesy Megan Peabody

เรามักคุ้นเคยกับสัตว์ช่วยเหลืออยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นสุนัข แมว หรือม้าแคระที่คอยช่วยเหลือผู้พิการ หรือช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ผู้ที่มีปัญหาทางด้านจิตใจซึ่งได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีเพื่อให้ความช่วยเหลือเจ้านาย

ขณะที่สัตว์ที่คอยช่วยเหลือด้านจิตใจ ไม่ต้องผ่านการฝึกฝน เพียงแค่ช่วยผ่อนคลายความเครียดหรือความกังวลของเจ้านายเท่านั้น โดยเฉพาะนักเดินทางที่กลัวการขึ้นเครื่องบิน ผู้ที่มีความวิตกกังวล ผู้ที่มีภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรงหรือมีปัญหาด้านจิตใจอื่นๆ

กระทรวงคมนาคมสหรัฐ ออกกฎให้ผู้โดยสารนำสัตว์ปลอบประโลมใจขึ้นเครื่ิองบินได้เฉพาะเที่ยวบินในประเทศเท่านั้นและเปิดกว้างให้แต่ละสายการบินกำหนดรายละเอียดข้อบังคับได้เอง เช่น สายการบินอาจต้องการให้ผู้โดยสารส่งประวัติพฤติกรรมของสัตว์และการตรวจสุขภาพของสัตว์ไปให้ก่อนเพื่อความปลอดภัยของผูู้โดยสารอื่นๆ

Courtesy Megan Peabody

ส่วนผู้โดยสารที่จะขึ้นเครืิ่องบินพร้อมสัตว์ปลอบประโลมใจ จะต้องมีหนังสือรับรองที่ออกโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตที่ระบุว่าผู้โดยสารมีปัญหาด้านจิตใจและจำเป็นต้องพาสัตว์ปลอบประโลมใจขึ้นเครื่องบิน

เมแกน ตำหนินักเดินทางที่นำสัตว์ซึ่งไม่ได้ผ่านการฝึกฝนให้ขึ้นเครื่องบินมาเป็นข้ออ้างนำสัตว์ขึ้นเครื่องบินด้วยโดยอ้างว่าเป็นสัตว์ประโลมจิตใจ พร้อมกับเล่าว่า ก่อนหน้านี้ เคยขึ้นเครื่องบินลำพัง แต่แฮมเลตต้องไปขึ้นเครื่องขนส่งสินค้า ทำให้เธอกังวลมาก จึงปรึกษากับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป

Courtesy Megan Peabody

แพทย์แนะนำให้เธอมีสัตว์คอยปลอบประโลมใจ จากนั้น จึงนำแฮมเลตไปฝึกที่ศูนย์ฝึกสุนัขให้มีพฤติกรรมที่ดีขณะนั่งเครื่องบินซึ่งทำให้เธอนำขึ้นเครื่องบินได้อย่างถูกต้องตามกฎระเบียบ แต่การขอหนังสือรับรองก็มีช่องโหว่พราะในหนังสือรับรองไม่ต้องระบุรายละเอียดอาการป่วยทางจิต

อีกทั้ง ขอหนังสือรับรองขอสัตว์ปลอบประโลมใจผ่านทางเว็บไซต์ได้อย่างง่ายดายหรือสั่งซื้อปลอกคอสุนัขที่มีคำว่า “สนับสนุนด้านจิตใจ” ผ่านทางเว็บไซต์ Amazon ในราคาไม่ถึง 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 900 บาท

Courtesy Megan Peabody

บ็อบ แม็คคัลลัฟ นักเขียนรับจ้าง เปิดเว็บไซต์ RealESALetter.com เพื่อออกหนังสือรับรองให้สัตว์ปลอบประโลมจิตใจบอกว่าผู้ที่ต้องการจะให้ออกหนังสือรับรอง จะต้องตอบแบบสอบและกรอกประวัติอาการป่วยทางจิตและประวัติการรักษา ส่วนผู้ที่จะออกหนังสือรับรองได้จะต้องเป็นนักบำบัดที่ใบอนุญาต แต่ยอมรับว่ามีหลายเว็บไซต์มากมายที่ออกหนังสือรับรองสัตว์ปลอบประโลมใจโดยอ้างว่าทำอย่างถูกกฎหมาย

ส่วนเว็บ RealESALetter.com ออกหนังสือรับรองให้สัตว์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสุนัขและแมว แต่มีบางคนที่ต้องการเดินทางกับจระเข้ นกยูง แมวป่า วัวและงู แต่เขาไม่ออกหนังสือให้และจะไม่ออกหนังสือให้กับผู้ที่ส่งใบสมัครปลอมด้วย

Courtesy Megan Peabody

กระทรวงคมนาคมสหรัฐจะออกกฎใหม่ก่อนสิ้นปีนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารที่มีที่นั่งรอบๆ สัตว์ปลอบประโลมใจและลดจำนวนผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางกับสัตว์เลี้ยงโดยอ้างว่าเป็นสัตว์ช่วยเหลือ

ส่วนแคส ซานดรา โบเนสส์ นักศึกษาปริญญาเอกด้านจิตวิทยาคลินิกและคณะจากมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก แอมเฮิร์ส นิวแฮมป์เชอร์และควินซี ร่วมกันออกแบบมาตรฐานการประเมินสัตว์ปลอบประโลมใจสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต

ขณะที่หลายสาการบินเริ่มใช้กฎใหม่ หลังจากที่มีผู้โดยสารจำนวนมากขึ้นต้องการนำสัตว์ปลอบประโลมใจขึ้นเครื่องไปด้วยและมีหลายกรณีที่ สายการบินไม่อนุญาตให้นำสัตว์ปลอบประโลมใจขึ้นไปในห้องโดยสารได้ เช่น สายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ ห้ามนำนกยูงที่เป็นสัตว์ปลอบประโลมใจขึ้นเครื่องเนื่องจากน้ำหนักมากและขนาดตัวใหญ่

สายการบินห้ามผู้โดยสารอุ้มนกยูงขึ้นเครื่อง

และเมื่อไม่นานมานี้เอง พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินถูกสุนัขปลอบประโลมใจกัดและต้องเย็บ 5 เข็ม

ส่วนสายการบินเดลตาออกกฎให้ผู้โดยสาร 1 คนนำสัตว์ปลอบประโลมใจขึ้นเครื่องได้ 1 ตัว และห้ามไม่ให้นำสุนัขพันธุ์พิตบูลขึ้นเครื่อง ขณะที่สายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ ออกกฎให้ผู้โดยสาร 1 คนนำสัตว์ปลอบประโลมใจขึ้นเครื่องได้ 1 ตัว และต้องเป็นสุนัขหรือแมว หรือสัตว์อื่นๆ ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงคมนาคมสหรัฐ ซึ่งจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณี

ตูบกัดคนบนเครื่องจนเป็นเรื่อง

ส่วนสายการบินเซาท์เวสต์ไม่อนุญาตให้นำสัตว์ที่ไม่ได้รับการยอมรับหรือสัตว์จากต่างประเทศขึ้นเครื่อง และสัตว์ปลอบประโลมใจจะต้องใส่ไว้ในกรงหิ้วที่วางไว้ใต้ที่นั่งหรือหน้าที่วางเท้าผู้โดยสาร พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหลายคนบอกว่าเป็นคนรักสัตว์อยู่แล้ว

อย่าง อัลลี มาลิส เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมานาน 5 ปี บอกว่าเมื่อเห็นสัตว์เหล่านี้บนเครื่องบิน เธอได้แต่หวังว่าสัตว์เหล่านี้คงได้รับการฝึกพฤติกรรมมาดีแล้วและคงไม่ได้ขึ้นเครื่องบินครั้งแรก รวมทั้ง หวังว่าเจ้านายจะรู้ว่าจะควบคุมสัตว์อย่างไร

สัตว์ที่เคยเห็นขึ้นเครื่องบิน มีทั้ง สัตว์เลี้ยงในบ้านและสัตว์ป่า เช่น ลิง ไก่ จิงโจ้ เพนกวินแคระ ซึ่งเธอทราบดีว่าผู้โดยสารบางคนจำเป็นต้องพึ่งสัตว์ช่วยเหลือหรือสัตว์ปลอบประโลมใจ แต่สัตว์ประเภทนี้อาจทำให้เกิดปัญหากับผู้โดยสารคนอื่นได้ เช่น ฉี่ หรือ เป็นเหตุให้ผู้โดยสารคนอื่นแพ้สัตว์

เหตุการณ์เช่นนี้ เคยเกิิดขึ้นแล้วกับเมแกนเพราะครั้งหนึ่งแฮมเลตนั่งติดกับผู้โดยสารที่กลัวหมู พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจึงให้ผู้โดยสารคนนี้นั่งถัดออกไปและมอบบัตรกำนัลให้ตอบแทน แต่ผู้โดยสารที่เป็นเจ้าของสัตว์ปลอบประโลมใจไม่เคยถูกย้ายที่นั่งเพราะอาจจะไปรัับกวนผู้โดยสารคนอื่น ไม่เฉพาะผู้โดยสารทั่วไปเท่านั้นที่อาจลำบากใจกับการโดยสารพร้อมกับสัตว์ปลอบประโลมใจเพราะผู้ที่ต้องพึ่งสัตว์ช่วยเหลือก็ไม่สบายใจเช่นกัน

เดือน ส.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มทหารผ่านศึกและผู้พิการ 80 คน เขียนหนังสือร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อร้องขอให้ออกกฎหมายในการกำหนดให้สัตว์ปลอบประโลมใจต้องผ่านการฝึกมาแล้วจึงจะได้ขึ้นเครื่องบิน เนื่องจากสัตว์ปลอบประโลมใจที่ไม่ได้รับการฝึกฝนอาจก่อปัญหาให้กับสุนัขช่วยเหลือ

ในสหภาพยุโรป สัตว์ปลอบประโลมใจไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นเครื่องบิน ยกเว้น สุนัขช่วยเหลือ ขณะนี้ ยังไม่มีทางออกทีดีที่สุดสำหรับสัตว์ปลอบประโลมใจ แต่ข้อแนะนำจากบางคน เช่น สายการบินควรจัดพื้นที่ให้สำหรับสัตว์ปลอบประโลมใจหรืออาจกำหนดมาตรฐานสำหรับสัตว์เหล่านี้

////////////

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน