มือถือเก่าดักแก๊งตัดป่า หนุ่มอเมริกันประยุกต์ใช้ รักษ์ป่าอินโดฯ

มือถือเก่าดักแก๊งตัดป่าซีเอ็นเอ็น รายงานการป้องกันแก๊งมอดไม้ ด้วยอุปกรณ์ที่ไม่น่าเชื่อ นั่นคือโทรศัพท์มือถือเครื่องเก่า ตรวจจับกลุ่มตัดไม้เถื่อนได้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 โทเฟอร์ ไวท์ มาเยือนเขตอนุรักษ์ชะนีในอินโดนีเซียและหลงรักเสียงแห่งพงไพรตั้งแต่นั้นมา แต่วิศวกรหนุ่มชาวอเมริกันไม่ได้ยินเสียงเลื่อยยนต์ที่ลักลอบตัดไม้ ทำให้เกิดความคิดว่าหากประยุกต์ใช้มือถือเก่ามาสร้างเป็นอุปกรณ์ฟังเสียงในป่าคงจะดีไม่น้อยเพราะจะได้เป็นสัญญาณเตือนให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้รู้พิกัดที่มีคนลักลอบตัดต้นไม้

[video width="1100" height="616" mp4="https://www.khaosod.co.th/wpapp/uploads/2019/11/rainforest-connection.mp4"][/video]

1 ปีหลังจากนั้น ไวท์กลับไปในป่าฝนอินโดนีเซียอีกครั้ง พร้อมอุปกรณ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นเองและสามารถตรวจจับกลุ่มตัดไม้เถื่อนได้ในเวลา 48 ช.ม.

ไวท์ตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไรชื่อ “เรนฟอเรสต์ คอนเนคชัน” ขึ้นมา โดยรื้อมือถือแอนดรอยเก่ามาติดไมโครโฟนเพิ่ม พร้อมด้วยแบตแตอรีและแผงโซลาร์เซลล์ที่มีรูปร่างคล้ายดอกไม้แล้วนำไปติดตั้งบนร่มไม้สูงอย่างน้อย 45 เมตร

มือถือเก่าดักแก๊งตัดป่า

อุปกรณ์นี้จะบันทึกเสียงตลอด 24 ช.ม. และส่งสัญญาณเสียงไปเก็บไว้ในคลาวด์ ซึ่งมีระบบปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ แยกแยะเสียงต่างๆ ได้ เช่น เสียงเลื่อยยนต์ รถบรรทุกไม้ คน เสียงยิงปืน และส่งสัญญาณเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินได้ทันที ทำให้เจ้าหน้าที่รู้ตำแหน่งที่มีการลักลอบตัดไม้

ขณะนี้ เรนฟอเรสต์ คอนเนคชัน ติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวกว่า 150 เครื่องใน 5 ประเทศ เช่น เปรู แคเมอรูนและบราซิล ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าการเดินลาดตระเวนและการตรวจสอบการลักลอบตัดไม้โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมที่ต้องใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ กว่าเจ้าหน้าที่ป่าไม้จะทราบว่าเกิดการตัดไม้เถื่อน

แม้อุปกรณ์ดัดแปลงจากมือถือมีทุนต่ำกว่าและทำงานได้เร็วกว่าวิธีอื่น แต่มีจุดอ่อนจากธรรมชาติเพราะแมลง โดยเฉพาะปลวกชอบพลาสติกทุกชนิด

ป่าไม้เป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตบนดินร้อยละ 80 ของโลก รวมทั้ง มนุษย์ที่ต้องพึ่งพาอาศัยป่าในการดำรงชีวิตกว่า 1 พันล้านคนและป่าไม้ช่วยลดโลกร้อนด้วยการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF ประเมินว่าป่าไม้ลดลงปีละ47 ล้านไร่ หรือพื้นที่ป่าไม้ขนาดพอๆ กับพื้นที่สนามฟุตบอลหายไปทุกนาที ด้านสหประชาชาติคาดว่าการทำลายป่าไม้ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนร้อยละ 11

ขณะที่ไวท์เห็นว่าป่าไม้ทุกๆ 1 ตารางกิโลเมตร เท่ากับการนำรถออกจากถนน 1,000 คันต่อปี และนับว่าเป็นวิธีการลดโลกร้อนที่ราคาถูกที่สุด

แต่การตัดไม้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สหประชาชาติและตำรวจสากลคาดว่ามีการค้าไม้เถื่อนทั่วโลกทำรายได้ปีละ 9 แสนล้านบาทถึง 3 ล้านล้านบาทต่อปี

ไวท์กล่าวว่าจุดประสงค์หลักของการตัดไม้เพื่อนำไม้ไปขาย แต่บางกรณีก็มีการโค่นต้นไม้ในป่าเพื่อแผ้วถางทำเป็นที่ดินการเกษตรและปลูกบ้านเรือน รวมทั้ง การตัดถนนผ่านป่าก็ยิ่งทำให้ราคาไม้สูงยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ถนนก็ทำให้การตัดไม้สะดวกขึ้น

วิศกรหนุ่มกล่าวว่าเรนฟอเรสต์ คอนเนคชัน ทำงานร่วมกับชนเผ่าต่างๆ และชุมชนในท้องถิ่นเพราะการอนุรักษ์ต้องพึ่งพาคนท้องถิ่น เนื่องจากคนพื้นเมืองมีวิธีการจัดการกับก๊าซคาร์บอนที่พบในป่าเขตร้อนชื้นหรือป่ากึ่งเขตร้อนได้อย่างน้อย 1 ใน 5

ส่วนการปกป้องผืนป่าเป็นงานอันตรายและน่ากลัวมาก โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาและละตินอเมริกามีการเคลื่อนไหวในตลาดมืดขนาดใหญ่ที่สร้างกำไรมหาศาลส่งผลให้เกิดความรุนแรงบ่อยครั้ง
ดังนั้น ยิ่งจับตัวคนตัดไม้ได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งหยุดยั้งไม่ให้รถบรรทุกไม้หรือการถูกเลื่อยยนต์โค่นไม้ได้เร็วเท่านั้น

การศึกษาการใช้เสียงของสิ่งมีชิวิตต่างๆ หรือ “ชีวสวนศาสตร์” โดยใช้อุปกรณ์ดัดแปลงจากมือถือเก็บเสียงต่างๆ ในป่ามาสร้างฐานข้อมูลเสียงธรรมชาติเพื่อใช้ในการอนุรักษ์ได้เป็นอย่างดี

แม้ไม่สามารถศึกษาเสียงทั้งหมดได้ แต่ชีวสวนศาสตร์ถือเป็นการปฏิวัติที่ช่วยให้เข้าใจนิเวศวิทยาและธรรมชาติได้ดีขึ้น

////////////////////////////////

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน