พม่าไม่ได้ฆ่าล้างโรฮิงยา – ซู จี ปฏิเสธข้อหาฉาวกลางศาลโลก

พม่าไม่ได้ฆ่าล้างโรฮิงยา – วันที่ 11 ธ.ค. บีบีซี รายงานว่า นางออง ซาน ซู จี ในฐานะที่ปรึกษาพิเศษรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของพม่า ให้การต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือไอซีเจ นครเฮก เนเธอร์แลนด์ ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าทางการพม่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงยาอย่างโหดเหี้ยม

นางซู จี กล่าวเปิดในศาลว่า การดำเนินคดีนี้ต่อทางการพม่า “ไม่สมบูรณ์และไม่ถูกต้อง” แต่ยอมรับว่า ทหารพม่าอาจใช้กำลังอย่างไม่เหมาะสมในบางคราว หากทหารนายไหนก่ออาชญากรรมสงครามจะถูกดำเนินคดี นอกจากนี้ ทางการพม่ามีความมุ่งมั่นที่จะส่งคนพลัดถิ่นจากรัฐยะไข่กลับสู่ถิ่นเดิมอย่างปลอดภัย และเรียกร้องให้ศาลหลีกเลี่ยงการดำเนินการใดที่อาจทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นด้วย

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Myanmar Rohingya: Suu Kyi rejects genocide claims at UN court

ข้างนอกศาล มีทั้งกลุ่มต่อต้านและสนับสนุนนางซูจี กลุ่มต่อต้านตะโกนว่า “ออง ซาน ซูจี น่าอาย” ขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนพม่าถือป้ายเป็นภาพถ่ายของนางซู จี พร้อมข้อความ “เราอยู่ข้างคุณ”

Pho phyu Thant ชาวพม่าผู้อาศัยในยุโรป และหนึ่งในผู้จัดการชุมนุมสนับสนุนนางซู จี กล่าวว่า โลกต้องอดกลั้นต่อนางซู จี มากกว่านี้ “เราสนับสนุนและยังเชื่อมั่นในตัวนางซู จี เป็นบุคคลเดียวที่สามารถนำสันติสุขและความรุ่งเรื่องในประเทศได้ และแก้ไขสถานการณ์ซับซ้อนอย่างมากนี้ได้”

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Myanmar Rohingya: Suu Kyi rejects genocide claims at UN court

ส่วนที่ค่ายผู้ลี้ภัยกูตูปาลง ในเขตคอกซ์-บาซาร์ บังกลาเทศ ผู้ลี้ภัยต่างชมโทรทัศน์ถ่ายทอดสดนางซู จี ขึ้นศาลโลก พร้อมตะโกนว่านางซู จี เป็นคน “โกหก” และ “น่าอาย”

สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ภาพพจน์ของนางซูจีตกต่ำลง จากเดิมในฐานะนักต่อสู้เรียกร้องระบอบประชาธิปไตยในพม่า และบุคคลซึ่งเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ กลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่า มีส่วนรับผิดชอบต่อการสังหารหมู่ชาวโรฮิงยา ตอกย้ำด้วยพฤติกรรมเพิกเฉยของนางซูจี ต่อเหตุที่เกิดขึ้นเสมอมา

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ Myanmar Rohingya: Suu Kyi rejects genocide claims at UN court

ขณะที่คณะสืบสวนของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ที่แฝงตัวลงพื้นที่ในรัฐยะไข่ และสัมภาษณ์ชาวโรฮิงยาผู้รอดชีวิต เปิดเผยรายงานเมื่อปีที่ผ่านมา ว่าภารกิจของกองทัพพม่านั้นเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

การดำเนินคดีต่อทางการพม่าเป็นความพยายามของนานาชาติ นำโดยประเทศแกมเบีย ชาติในภาคตะวันตกของทวีปแอฟริกา เป็นโจทก์ยื่นฟ้องรัฐบาลพม่า ในข้อหาละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปี 2491 ส่งผลให้ชาวโรฮิงยากว่า 740,000 คน อพยพหนีตายข้ามไปยังฝั่งประเทศบังกลาเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน