ปิดทางแก้รัฐธรรมนูญ! – วันที่ 11 มี.ค. เอเอฟพี และ รอยเตอร์ รายงานสถานการณ์การเมืองในพม่า จากญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับทหาร ปี 2551 ตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. ว่า สมาชิกรัฐสภามีมติคว่ำญัตติดังกล่าว ซึ่งเสนอโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี พรรการเมืองรัฐบาลภายใต้การนำของนางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ที่พยายามปฏิรูปรัฐธรรมนูญ และลดอำนาจกองทัพในรัฐสภา

สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งกองทัพพม่ามีที่นั่งถาวรร้อยละ 25 ลงคะแนนเห็นด้วยกับญัตติดังกล่าวเพียง 404 เสียง จากทั้งหมด 633 เสียง ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งไม่ถึงเกณฑ์ร้อยละ 75 ขึ้นไป ที่จะผ่านญัตติดังกล่าวได้ หลังการโต้เถียงกันอย่างเผ็ดร้อนระหว่างส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและกองทัพพม่า

ในการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ สมาชิกรัฐสภาพม่ายังคัดค้านญัตติลดจำนวนที่นั่งส.ส.ที่สงวนสำหรับทหารภายใน 15 ปี และคว่ำญัตติยกเลิกมาตราที่บัญญัติให้ผู้บัญชาการทหารบกดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และคัดค้านถอนคำ “วินัย” ออกจากคำนิยามระบอบปกครองพม่า อย่างไรก็ตาม สมาชิกรัฐสภาลงมติเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้ข้าราชการพลเรือนเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้

นายอ่อง เตน ส.ส.พรรคเอ็นแอลดี กล่าวว่า พรรคเอ็นแอลดีทำนายแล้วว่าจะเกิดความพ่ายแพ้ แต่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำตามที่สัญญากับผู้มีสิทธิเลือกตั้งจนชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2558“เราต้องการให้ประชาชนรู้ว่าเราพยายามแล้ว”

ขณะที่นายเดวิด มาธิสัน นักวิเคราะห์การเมืองอิสระ ในนครย่างกุ้ง ประณามกระบวนการทั้งหมดว่า “ไร้จุดหมาย” ซึ่งเมินเฉยมาตรการที่อาจช่วยเพิ่มสิทธิชนกลุ่มน้อย กระจายอำนาจการเมือง และบรรเทาความยากจน “เป็นความภาวะจนมุมที่มาจากการเอื้อประโยชน์ของตัวเอง ไม่ใช่การปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างที่พม่าต้องการ”

พรรคเอ็นแอลดีตกอยู่ภายใต้แรงกดดันความคืบหน้าปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ก่อนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะการปราบปรามชาวโรฮิงยา และความล่าช้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สภาผู้แทนราษฎรพม่าจะลงมติญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นอื่นๆ จนถึง 20 มีนาคม ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปีนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน