ตะลึงท้องฟ้าอินเดียเป็นสีฟ้า – ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า จากการที่อินเดียปิดประเทศ หรือ ล็อกดาวน์ มาได้ 1 สัปดาห์แล้ว ธุรกิจต่างๆ ระงับการให้บริการ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาปิดประตูเงียบ การก่อสร้างหยุดชั่วคราว รถราแทบไม่มีวิ่งตามท้องถนน เพราะคนประชาชนประมาณ 1 ล้าน 3 แสนคนต้องกักตัวอยู่แต่ภายในเคหะสถาน

สภาพอากาศในอินเดียสะอาดขึ้นเยอะ ปริมาณฝุ่นจิ๋ว พีเอ็ม 2.5 ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากช่วงก่อนปิดประเทศ อินเดียมีเมืองที่มีปริมาณฝุ่นพิษ พีเอ็ม 2.5 เกินค่ามาตรฐาน 21 เมืองจาก 30 เมืองทั่วโลก เฉพาะกรุงนิวเดลี ปริมาณพีเอ็ม 2.5 ลดลงร้อยละ 71 หลังล็อกดาวน์ รวมทั้ง ฝุ่นพีเอ็ม 10 ก็ลดลงด้วย ส่วนมุมไบ เชนไน โกลกาตา บังกาลอร์ ค่ามลพิษก็ลดลงเช่นกัน

ตั้งแต่เริ่มล็อกดาวน์วันที่ 25 มีนาคม ปริมาณไนโตรเจนไดออกไซด์ ลดลงร้อยละ 40-50 ในหลายเมือง รวมทั้ง มุมไบ ปูเน และอาห์มาดาบัด เนื่องจากการคมนาคมลดลง และอุตสาหกรรมหยุดทำการ ส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลลดลง

 

ย้อนกลับไปไม่นาน เมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้วนี่เอง ชาวอินเดียหลายร้อยคนเดินประท้วงไปตามถนนในกรุงนิวเดลีเพราะไม่พอใจที่มลพิษในอากาศสูงมาก หลังจากท้องฟ้ามีแต่ฝุ่นควันสีเหลืองปกคลุมมานานหลายวัน จนค่ามลพิษสูงที่สุด

4 เดือนต่อมา ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าอย่างไม่เห็นมาก่อน แต่ภัยจากไวรัสระบาดกลับระบาดไปทั่ว ปกติอินเดียติดอันดับมีผู้ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจมากที่สุดในโลกและมีผู้ป่วยวัณโรคสูงที่สุดในโลก หากติดเชื้อไวรัสโคโรนา ปอดถูกทำลายมากยิ่งขึ้น แม้แต่ในกลุ่มเด็ก ซึ่งมีความเสี่ยงติดไวรัสน้อยกว่าผู้สูงอายุก็ตาม

องค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า ผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากมลพิษมีถึง 7 ล้านคนต่อปี ซึ่งต้นตอที่ทำให้เกิดมลพิษส่วนใหญ่เกิดจากน้ำมือมนุษย์เอง

หากเห็นความเปลี่ยนแปลงทางอากาศไปในทิศทางดีขึ้น รัฐบาลอินเดียอาจต้องทบทวนว่า ประเทศยังจะใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลสูงมากต่อไปหรือไม่ และถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องลงทุนเพื่อให้อากาศสะอาด อย่างน้อย รัฐบาลก็ควรออกนโยบายบางอย่าง เช่น การรณรงค์ให้ใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน