โควิดสิ้นฤทธิ์! นักวิทย์ผลิตภูมิต้านสำเร็จ เร่งทดลองต่อในสัตว์

โควิดสิ้นฤทธิ์! นักวิทย์ผลิตภูมิต้านสำเร็จ – วันที่ 5 พ.ค. บลูมเบิร์กรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการผลิตสารภูมิต้านทานที่สามารถทำให้เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ซาร์ส 2 (SARS-CoV-2) หมดฤทธิ์แล้วในห้องปฏิบัติการ เตรียมนำไปทดสอบต่อในสัตว์ทดลอง

ผลงานดังกล่าวเป็นของคณะนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยยูเทรกต์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้รับการเผยแพร่ทางวารสาร Nature Communications ฉบับวันที่ 4 พ.ค. 2563 ถือเป็นหนึ่งในความพยายามพัฒนายาต้านไวรัสชนิดนี้ที่กำลังระบาดใหญ่ทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตกว่า 250,000 ราย

ผลการทดสอบพบว่า สารภูมิคุ้มกันแบบโมโนโคลน หรือโมโนโคลนอล แอนติบอดี ชนิดนี้สามารถจับกับแท่งโปรตีนที่ยื่นออกมาจากเยื้อหุ้มของไวรัสได้ ทำให้ไวรัสไม่สามารถใช้เพื่อจับโปรตีนตัวรับของเซลล์เป้าหมาย เพื่อรุกรานเข้าไปแบ่งตัวได้

แอนติบอดีดังกล่าวมีรหัสเรียกว่า 47D11 โดยการทดสอบในห้องปฏิบัติการยังพบว่า นอกจากทำให้เชื้อไวรัสข้างต้นหมดฤทธิ์แล้ว ยังมีความสามารถต่อต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ซาร์ส (SARS-CoV) ซึ่งก่อโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง และเคยระบาดใหญ่เมื่อปี 2546

รายงานระบุว่า โมโนโคลนอล แอนติบอดี เป็นแอนติบอดีที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้นเองในห้องปฏิบัติการโดยเลียนแบบกระบวนการสร้างแอนติพอดีในร่างกายของมนุษย์

กรณีนี้ นักวิทยาศาสตร์ใช้หนูทดลองที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรม เพื่อให้ผลิตแอนติบอดีรูปแบบต่างๆ ต่อไวรัส กระทั่งพบว่า 47D11 มีความสามารถข้างต้น จึงนำแอนติบอดีชนิดดังกล่าวมาปรับปรุงใหม่ให้เข้ากับร่างกายของมนุษย์

คณะนักวิจัย ระบุว่า โมโนโคลนอล แอนติบอดี ซึ่งจัดการจุดอ่อนของเชื้อโรค กำลังเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาโรคติดเชื้อที่ได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีประสิทธิภาพต่อไวรัสหลายชนิด

ทั้งนี้ โมโนโคลนอล แอนติบอดี ถือเป็นหนึ่งในยาต้านที่ถูกนำไปใช้ในการรักษาในหลายโรค อาทิ โรคมะเร็งบางชนิด ต้านการอักเสบ บางส่วนยังอยู่ในระหว่างพัฒนาเพื่อนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคอีโบลา และโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ต่างๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน