โดรน-รถดับเพลิงพ่นๆฉีดๆ – วันที่ 2 มิ.ย. ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า อินเดีย กำลังเผชิญอีกศึกภายนอกที่ซ้ำเติมประเทศ นอกจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ นั่นคือกองทัพตั๊กแตนที่บุกรุกทำลายพืชผลการเกษตรสำคัญๆ แต่ปีนี้รุนแรงที่สุดของอินเดียในรอบเกือบสามทศวรรษ

 

ตั๊กแตนทะเลทราย (Desert locust) หลายล้านตัวบินข้ามมาจากเพื่อนบ้านอย่าง ปากีสถาน เข้าสู่ รัฐราชสถาน ทางตะวันตก เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม และแผ่ขยายออกไปรัฐต่างๆ เพื่อเสาะแสวงหาอาหาร

องค์การอาหารและเกษตร (FAO) ของสหประชาชาติระบุว่า ตั๊กแตนทะเลทรายเป็นสายพันธุ์ที่สร้างความเสียหายรุนแรงที่สุด เนื่องจากความว่องไวและการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ตั๊กแตนทะเลทรายตัวเต็มวัยบินได้สูงสุด 150 กิโลเมตรต่อวัน และกินผักสดเท่ากับน้ำหนักตัวเอง 2 กรัม

AFP

ฝูงตั๊กแตนทะเลทรายแผ่กระจายและกินอาณาบริเวณตั้งแต่หลักหน่วยถึงหลักร้อยตารางกิโลเมตร แต่ละตารางกิโลเมตรมีตั๊กแตนทะเลทรายตัวเต็มวัยถึง 80 ล้านตัว

ส่วนสาเหตุที่พวกมันเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเพราะได้รับอิทธิพลกระแสลมตะวันตกจากพายุไซโคลนอำพันในอ่าวเบงกอล ที่ถล่มอินเดียและบังกลาเทศเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม คร่าชีวิตอย่างน้อย 90 ราย และเกิดความเสียหายหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

AFP

กระทรวงเกษตรของอินเดียระบุว่า ฝูงตั๊กแตนทะเลทรายเข้ามา รัฐอุตตรประเทศ ทางเหนือ ซึ่งอยู่ติดกับ กรุงนิวเดลี เมืองหลวง, รัฐมัธยประเทศ ตอนกลาง, รัฐมหาราษฏระ และ รัฐคุชราฏ ทางตะวันตก แล้วเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 พ.ค. หลายรัฐที่ได้รับความเสียอย่างหนักต่างควบคุมฝูงตั๊กแตน ทั้งโดรน รถแทรกเตอร์ และแม้แต่รถดับเพลิง

ส่วนรัฐอื่นๆ นอกจากนี้ต่างมีการแจ้งเตือนเช่นกัน เช่น รัฐฌาร์ขันท์ ทางตะวันออก ออกประกาศเตือนบรรดาเกษตรกรเมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 พ.ค. พร้อมคำแนะนำในการขับไล่ฝูงตั๊กแตนทะเลทรายออกไป ทั้งการจุดไฟ ปล่อยพลุ ใช้จานและกระป๋องตีให้เสียงดัง หรือตีกลอง จนพวกศัตรูพืชไม่สามารถทนเสียงน่ารำคาญได้

แม้กระทั่งรัฐบาลกรุงนิวเดลียังออกคำแนะนำให้เกษตรกรเตรียมตัวหากฝูงตั๊กแตนเปลี่ยนทิศทางมาเมืองหลวง

AP

ที่รัฐราชสถาน พื้นที่ประเดิมแห่งแรกของอินเดีย เจ้าหน้าที่กรมเกษตรและชุดจัดการตั๊กแตนทำงานร่วมกันมาตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. เพื่อกำจัดกองทัพศัตรูพืชที่แผ่กระจายและทำลายพืชผลการเกษตร กินอาณาบริเวณกว้าง 1.5 กิโลเมตร ยาว 7 กิโลเมตร

เจ้าหน้าที่เริ่มทำงานตั้งแต่ตี 1 ขับรถแทรกเตอร์ที่ติดตั้งสเปรย์ 100 คัน และรถดับเพลิง 20 คัน ตระเวนฉีดน้ำและยาฆ่าแมลงทั่วทั้ง 11 เขตของรัฐ นอกจากนี้ รัฐบาลกลางส่งโดรนมาใช้ฉีดยาฆ่าแมลงใน 2 เขตของรัฐด้วย ทำให้ตั๊กแตนทะเลทรายตายไปมากถึงราวร้อยละ 70

เจ้าหน้าที่ระบุว่า ตั๊กแตนทะเลทรายยาตราเข้ามา 11 ฝูง ต่อมา สามฝูงหอบตามกระแสลมไปรัฐมัธยประเทศ

อย่างไรก็ตาม FAO เตือนว่า ตั๊กแตนทะเลทรายอาจบุกรุกเข้ามายังรัฐราชสถานอีกหลายระลอกจนถึงเดือนกรกฎาคม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

จีนเตรียมส่งเป็ดนับแสนตัว กำจัดตั๊กแตนกินพืชผลในปากีสถาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน