คิงซาอุฯปลดฟ้าผ่า2เจ้าชาย ผบ.ทัพอาหรับศึกเยเมน อีกกระแสชี้กำจัดเสี้ยนหนาม

คิงซาอุฯปลดฟ้าผ่า2เจ้าชาย – วันที่ 1 ก.ย. อัลจาซีรา รายงานว่า สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด กษัตริย์แห่งซาอุดีอาระเบีย มีพระราชโองการปลดพระบรมวงศานุวงศ์ 2 พระองค์ องค์หนึ่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพแนวร่วมชาติอาหรับในประเทศเยเมน พร้อมเจ้าหน้าที่กลาโหม รวม 6 นาย

บีบีซีรายงานว่า ความเคลื่อนไหวนี้ถูกฝ่ายตรงข้าม มองว่าอาจเป็นการกำจัดเสี้ยนหนามในการควบคุมราชบัลลังก์ของมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ผู้ปกครองโดยพฤตินัยของราชอาณาจักรซาอุฯ

คิงซาอุฯปลดฟ้าผ่า2เจ้าชาย

เจ้าชายฟาฮัด บิน ตุรกี บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด (ซ้าย)

พระราชโองการ มีเนื้อหาให้เจ้าชายฟาฮัด บิน ตุรกี บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด ผบ.กองทัพแนวร่วมชาติอาหรับในประเทศเยเมน และเจ้าชายอับดุลอะซีซ บิน ฟาฮัด ทายาทของเจ้าชายฟาฮัด ที่เป็นเจ้าครองเมืองอัล-จูฟ ยุติการปฏิบัติหน้าที่ และเข้ารับการสอบสวนข้อครหาคอร์รัปชั่น

ข้อครหาดังกล่าวเป็นผลมาจากการสืบสวนของเจ้าฟ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน มกุฏราชกุมารแห่งซาอุฯ คณะกรรมาธิการปราบปรามการทุจริต พบความไม่ชอบมาพากลในบัญชีของกระทรวงกลาโหม ว่ามีการโอนเงินที่ส่อพิรุธ โดยนอกจากพระบรมวงศานุวงศ์ 2 พระองค์แล้ว ยังมีนายทหารระดับสูงอีก 4 นาย ที่ถูกปลดและตั้งคณะกรรมการสอบสวนด้วย

คิงซาอุฯปลดฟ้าผ่าผบ.ทัพอาหรับในเยเมน

เจ้าฟ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน มกุฏราชกุมารแห่งซาอุฯ

รายงานระบุว่า ตั้งแต่เจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน ได้รับการสถาปนาเป็นมกุฏราชกุมารเมื่อปี 2560 นั้นมีการดำเนินการปราบปรามการคอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีพระบรมวงศานุวงศ์ รัฐมนตรี และนักธุรกิจ ถูกจับกุมและลงโทษจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม แม้มกุฎราชกุมารทรงเป็นผู้นำในการปราบปรามการทุจริตและการปฏิรูปประเทศหลายด้าน แต่ถูกนักวิจารณ์บางส่วน มองว่า เป็นความพยายามกำจัดเสี้ยนหนามที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการขึ้นครองราชย์ของพระองค์เองด้วย

สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด (ขวา) และเจ้าฟ้าชายโมฮัมหมัด

มีสมาชิกอาวุโสของราชวงศ์ 3 พระองค์ถูกจับกุมมาแล้ว รวมถึง เจ้าชายอาเหม็ด บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด ซึ่งเป็นพระอนุชาของกษัตริย์แห่งซาอุฯ และเป็นพระปิตุลาแท้ๆ ของเจ้าฟ้าชาย รวมถึงเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ อดีตมกุฏราชกุมารพระองค์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของกษัตริย์แห่งซาอุฯ

ต่อเนื่องจากการจับกุมสมาชิกราชวงศ์ซาอุฯ หลายสิบพระองค์ รัฐมนตรี และนักธุรกิจ กักที่โรงแรมริตซ์-คาร์ลตัน กรุงริยาด เมื่อปี 2560 จากนั้นผู้ที่ถูกควบคุมตัวหลายคนได้รับการปล่อยตัวหลังการไกล่เกลี่ยและตกลงทางการเงินกับทางการซาอุฯ มูลค่ารวม 106,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.29 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ นายซาอัด อัล-จาบรี อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองระดับสูง และคนสนิทของอดีตมกุฏราชกุมารพระองค์ก่อน ซึ่งลี้ภัยไปยังประเทศแคนาดา เคยยื่นฟ้องร้องต่อศาลในสหรัฐอเมริกา กล่าวหา เจ้าฟ้าชายโมฮัมหมัด ว่าส่งทีมล่าสังหารมาเพื่อฆ่าตนเมื่อปี 2561

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน