โซเชียลเจ็บแค้น วล็อกเกอร์สาวชนบทจีนถูกสามีบุกเผา – สิ้นใจในที่สุด
โซเชียลเจ็บแค้น – เซาท์ไชนา มอร์นิง โพสต์ รายงานเบื้องหลังคดีสะเทือนขวัญจากความรุนแรงในครอบครัว เมื่อวล็อกเกอร์สาวชาวจีน วัย 30 ปี ชื่อ ลามู ( Lamu) ถูกสามีเก่าบุกเผาทั้งเป็น จนหญิงสาวถึงแก่ความตาย เป็นคดีที่สร้างความเจ็บแค้นให้ผู้คนจำนวนมาก ต่างแสดงความเห็นทางโซเชียลมีเดีย
ลามู (ออกเสียง ล้าหมู่) เป็นวล็อกเกอร์เชื้อสายทิเบต เผยแพร่วิดีโอแสดงภาพวิถีชีวิตในชนบทแถบเทือกเขา เขตจิ้นฉวน มณฑลเสฉวน ภาคตะวันตกของจีน มีทั้งภาพการใช้ชีวิตประจำวัน ทำกับข้าว ร้องเพลง ลิปซิงก์ และแต่งชุดพื้นเมืองทิเบต หญิงสาวมีผู้ติดตามในตู้หยิน โซเชียลมีเดียติ๊กต็อก เวอร์ชั่นจีน อยู่มากกว่า 885,000 ราย
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. สามีเก่าแซ่ถัง บุกมาที่บ้านของหญิงสาวราดน้ำมันและจุดไฟเผาลามู บาดเจ็บสาหัส ก่อนถูกย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลในตัวเมืองของเสฉวน วันที่ 17 ก.ย.พี่สาวเผยว่าร่างกายน้องถูกไฟคลอกถึง 90%
แฟนคลับต่างระดมเงินช่วยค่ารักษาลามูได้ถึง 1 ล้านหยวน หรือราว 5 ล้านบาท แต่แพทย์ไม่อาจรั้งชีวิตไว้ได้ ลามูสิ้นใจเมื่อวันที่ 1 ต.ค. แฟนคลับหลายหมื่นคนต่างโพสต์ข้อความแสดงความเสียใจ และติดแฮชแท็ก #คดีลามู และแฮชแท็ก #ลามูถูกสามีเก่าเผาตาย ซึ่งแฮชแท็กหลังถูกเซ็นเซอร์ออกไป
เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันวันที่ 2 ต.ค. ว่า สามีเก่าเป็นผู้ลงมือขณะภรรยาเก่าตอนกำลังไลฟ์สดทางสื่อโซเชียลดังกล่าว จากการสอบสวนพบว่า ฝ่ายชายเคยทำร้ายร่างกายลามูมาก่อน
“ถ้าเราไม่นับว่าเธอเป็นคนดังทางอินเตอร์เน็ต เธอก็คือผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่โชคร้าย ถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว ถูกทำร้าย และถูกข่มขู่คุกคาม” คอมเมนต์หนึ่งเขียน โดยมีผู้กดไลก็มากกว่า 28,000 ไลก์
มีบางคนเขียนเรียกร้องให้คนร้ายถูกลงโทษด้วยการประหารชีวิต
จีนมีคดีความรุนแรงในครอบครัวเป็นคดีดังหลายคดีที่ก่อให้เกิดกระแสสังคมเรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติหาหนทางที่สร้างความยุติธรรมให้เหยื่อมากกว่านี้
เมื่อเดือนมิถุนายน หญิงที่มณฑลเหอหนาน โดดจากชั้นสองของอาคาร เพื่อหนีสามีที่ไล่ทำร้าย จนตกลงมาบาดเจ็บหนักเป็นอัมพาต ทั้งที่ก่อนหน้านั้นหญิงสาวขอหย่าแล้ว แต่กลับถูกปฏิเสธ ศาลมาอนุญาตให้ภายหลังจากที่คดีนี้เป็นข่าวใหญ่ที่ได้รับความสนใจทั่วโซเชียล
เดือนมิถุนายนอีกเช่นกัน ทางการเมืองอี้อู๋ ภาคตะวันออก ตรากฎหมายให้สตรีตรวจสอบประวัติคู่หมั้นได้ก่อนแต่งงานว่าฝ่ายชายเคยก่อความรุนแรงในครอบครัวมาแล้วหรือไม่ สร้างความยินดีให้กับกลุ่มรณรงค์สิทธิสตรีอย่างกว้างขวาง
อย่างไรก็ตาม จีนไม่มีสถิติตัวเลขคดีความรุนแรงในครอบครัวเลย เคยมีอยู่ปีเดียวคือปี 2559 ทำให้สังคมไม่ทราบสถานการณ์โดยรวม โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท
นอกจากนี้ ทางการเพิ่งจะเปลี่ยนกฎเกณฑ์ด้านพลเรือนให้มีช่วงเวลาประนีประนอมแก่คู่สมรสที่ต้องการหย่า 30 วัน สร้างความวิตกว่า หญิงที่เป็นเหยื่อความรุนแรงจะพ้นชะตากรรมร้ายได้ยากขึ้น
…….
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เน็ตไอดอลสาวจีนโพสต์แฉสามีเศรษฐีทุบตี–ทารุณ หน้าอกที่ทำศัลยกรรมฉีก–แทบระเบิด