“อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก” ผู้นำเผด็จการคนสุดท้ายแห่งทวีปยุโรป สืบทอดอำนาจนาน 26 ปี
หลังจาก ประธานาธิบดีโซรอนบาย เจนเบคอฟ ผู้นำประเทศคีร์กิซสถานที่ฝักใฝ่รัสเซีย ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งแล้ว หลังเผชิญการประท้วงต่อต้านรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องนับจากผลการเลือกตั้งรัฐสภาเมื่อวันที่ 4 ต.ค.
สายตาทุกคู่ก็จับจ้องไปที่ อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก วัย 66 ปี ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเบลารุส 6 สมัย ตั้งแต่ปี 2537 หรือเป็นเวลาทั้งหมด 26 ปี ถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประเทศที่เคยเป็นอดีตสหภาพโซเวียต
ลูคาเชนโกถูกมวลชนประท้วงมาก่อนเจนเบคอฟ เพราะผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเบลารุส วันที่ 16 สิงหาคม 2563 ออกมากลับตาลปัตรจากกระแสประชาชน อีกทั้งนานาประเทศก็ยังประณามการปราบปรามผู้ชุมนุม แต่จนถึงขณะนี้ ลูคาเชนโก ก็ยังไม่ไปไหน
สาธารณรัฐเบลารุสเป็นประเทศเอกราชมีประชากร 9.5 ล้านคน มีพื้นที่ประมาณ 207,600 ตารางกิโลเมตร (ครึ่งหนึ่งของพื้นที่ของประเทศไทย) ตั้งอยู่ในภูมิภาคยุโรปตะวันออกเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศรัสเซีย ยูเครน โปแลนด์ ลิทัวเนีย และลัตเวีย เมืองหลวงของประเทศคือกรุงมินสก์
ประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2534 ในระหว่างการล่มสลายของสหภาพโซเวียต โดยมีนายอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกและคนเดียวของประเทศเบลารุสตั้งแต่นั้นมา
ลูคาเชนโกประกาศว่าตนเองมีคุณสมบัติเป็น “พ่อ” ผู้ปกครองรัฐการเกษตร และยังโฆษณาตนเองว่าเป็นคนของประชาชนอีกด้วย เขาปกครองประเทศโดยระบบเผด็จการ กวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองที่บางรายถูกอุ้มหายไปอย่างไร้ร่องรอย ลูคาเชนโก ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตนเองสืบทอดอำนาจมาได้นานถึง 26 ปี ซึ่งในประเทศเบลารุสมีกฎหมายไม่ให้ประชาชนดูหมิ่นประธานาธิบดี ซึ่งมีโทษจำคุกถึง 5 ปี
เบลารุสเป็นประเทศที่มีเสรีภาพต่ำที่สุดในทวีปยุโรป ถูกจัดอันดับที่ 153 จากทั้งหมด 180 ประเทศ
ช่วงหลายปีที่อยู่ในอำนาจ เบลารุสกลายเป็นรัฐตำรวจ ปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างไม่เลือกหน้า แม้ว่าคะแนนนิยมของ ลูคาเชนโก ตกต่ำอย่างมากในการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2563 ทว่ากลับกลายเป็นว่าเขาชนะการเลือกตั้ง
โดยกวาดคะแนนไปกว่าร้อยละ 80 เปอร์เซ็นต์ ชนะคู่แข่ง ทีคานอฟสกายา คู่แข่งได้คะแนนเสียง 10.12 เปอร์เซ็นต์ เป็นเหตุให้ประชาชนเบลารุส กว่า 2 แสนคนออกมาเดินถนนต่อต้านรัฐบาล ว่ากันว่าเป็นการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่เบลารุสได้รับเอกราช
ส่งผลให้การประท้วงของวันที่ 16 สิงหาคม 2563 เป็นการประท้วงครั้งประวัติศาสตร์ของชาติเบลารุส ธงของฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นธงสีขาวแถบแดง กลายเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วง และพบเห็นได้ในการชุมนุมทุกแห่ง ผู้ประท้วงยังได้ถือดอกไม้และลูกโป่งเป็นสัญลักษณ์ว่าพวกเขาประท้วงอย่างสันติ
นอกจากนี้ยังมีการชุมนุมทั้งเล็กและใหญ่ในอีกหลายประเทศ เช่น โรมาเนีย โปแลนด์ ยูเครน และรัสเซีย เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้ประท้วงในเบลารุส
ขอขอบคุณที่มา the101.world/