ลงนามแล้ว “อาร์เซ็ป” – วันที่ 15 พ.ย. เอเอฟพี รายงานว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจเสรีระหว่าง สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) 10 ประเทศ กับคู่ภาคีอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ ได้รับการลงนามแล้วหลังเจรจากันนานถึง 8 ปี ท่ามกลางความคาดหวังของหลายชาติหุ้นส่วนที่ต้องการให้อาร์เซ็ปช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้นหลังเผชิญกับโควิด-19

ลงนามแล้ว “อาร์เซ็ป”

AFP PHOTO / VIETNAM HOST BROADCASTER

อาร์เซ็ปคิดเป็นมูลค่าตลาดโลกรวมถึงร้อยละ 30 นับเป็นความตกลงหุ้นส่วนการค้าใหญ่ที่สุดในโลก ได้รับการเสนอขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2555 และได้รับการลงนามแล้วอย่างเป็นทางการจากทุกประเทศที่เข้าร่วมในช่วงสิ้นสุดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 37 จัดขึ้นผ่านระบบการประชุมทางไกล เนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19

Nhac NGUYEN / AFP

อาร์เซ็ปเคยถูกชาติตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์เป็นความพยายามแผ่อิทธิพลในภูมิภาคเอเชียของจีน มาแทน ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ที่เคยมีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่ แต่ถอนตัวตามคำสั่งของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันแรกของการเข้าดำรงตำแหน่งเมื่อ 4 ปีก่อน และโจมตีว่าทีพีพีเป็นความตกลงยอดแย่

VIETNAM HOST BROADCASTER / AFP

นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า “ภายใต้บรรยากาศทั่วโลกเวลานี้ การลงนามอาร์เซ็ปถือเป็นเหมือนแสงสว่างแห่งความหวังทอแสงผ่าหมู่เมฆ” และว่า “ความสำเร็จของอาร์เซ็ปเป็นสิ่งสะท้อนว่าการค้าพหุภาคีเป็นหนทางถูกต้อง และทิศทางพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงความรุ่งโรจน์ของมนุษยชาติ”

 

ทั้งนี้ ความตกลงดังกล่าวจะส่งผลให้ชาติหุ้นส่วนลดกำแพงภาษีสินค้าระหว่างกันลง นายอเล็กซานเดอร์ คาปรี ผู้เชี่ยวชาญการค้าจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ระบุว่า อาร์เซ็ปต์ทำให้ความมุ่งมั่นในการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค โดยเฉพาะโครงการการลงทุนขนาดใหญ่ที่จีนมีเป้าหมายจะแผ่ขยายไปทั่วโลก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน