ชาวเยอรมันต้านกฎโควิด หวั่นซ้ำรอยรัฐบัญญัติฯ ฮิตเลอร์ ปี 1993 มุ่งหน้าเข้ารัฐสภา พร้อมปาของ ตำรวจจึงใช้ รถฉีดน้ำปราศจากสารเคมี ค่อยๆดันให้มวลชนถอย

Financial Times

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 สำนักข่าว Financial Times รายงานว่า ตำรวจเยอรมันใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงสลายการชุมนุมกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านการล็อคดาวน์หลายพันคนที่รวมตัวกันในใจกลางกรุงเบอร์ลิน เพื่อระบายความโกรธแค้นต่อกฎหมายควบคุมโควิด-19 ฉบับใหม่ที่พลเมืองเห็นว่าละเมิดสิทธิพลเมือง

โดยในการชุมนุมครั้งนี้ ประกอบไปด้วยกลุ่มที่มีความคิดเห็นที่หลากหลาย เช่น กลุ่มแนวคิดเสรีนิยม กลุ่มสนับสนุนรัฐธรรมนูญ กลุ่มต่อต้านการฉีดวัคซีน และ กลุ่มขวาจัด แต่มีจุดร่วมคือต่อต้านกฎหมายควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

Financial Times

หลังจากที่ผู้เดินขบวนไม่ปฏิบัติตามกฎการเว้นระยะห่างทางสังคมหรือสวมหน้ากากในที่ชุมนุม ตำรวจถูกพลเมืองปาขวด หิน สเปรย์พริกไทย และประทัดใส่จนเจ้าหน้าที่เก้าคนได้รับบาดเจ็บ ตำรวจเยอรมันจึงได้สลายการชุมนุมโดยใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง ที่ไม่มีการผสมสี สารเคมี หรือ แก๊สน้ำตา เพื่อค่อย ๆ ดันผู้ชุมนุมให้ล่าถอย โดยทำตามหลักสากลและปรับระดับให้เหมาะสม ไม่เป็นอันตรายแก่ผู้ชุมนุม

อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำนวนมากก็สู้ต่อและไม่ออกจากพื้นที่ไปโดยง่าย กลุ่มผู้ประท้วงยังได้เป่านกหวีด เคาะหม้อและกระทะ พร้อมโบกธงสีรุ้ง และตะโกน“ สันติภาพ! อิสรภาพ! ไม่มีเผด็จการ!” และ“ เราคือประชาชน!” นอกจากนี้มีผู้ประท้วงคนหนึ่งถือป้ายว่า“ กฎหมายโควิด เท่ากับ เผด็จการ” และอีกป้ายเขียนว่า “ปกป้องความจริงและเสรีภาพ อย่าแตะต้องรัฐธรรมนูญของเรา”

Financial Times

เยนส์ สปาห์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวกับฝ่ายนิติบัญญัติว่า เจ้าหน้าที่ “ต่อสู้ทุกวันเพื่อพยายามสร้างสมดุล” ระหว่างข้อจำกัดที่มี และการปกป้องเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันนักการเมืองกำลังถกเถียงกันเกี่ยวกับการเพิ่มอำนาจให้รัฐบาลในการกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ มีการถกเถียงและวิจารณ์ว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น อาจคล้ายกับสิ่งที่เรียกว่า ‘รัฐบัญญัติมอบอำนาจ’ของปีค.ศ. 1933 (พ.ศ.2476) ซึ่งนักการเมืองในขณะนั้นส่งมอบอำนาจนิติบัญญัติให้อดอล์ฟ ฮิตเลอร์

รัฐบัญญัติมอบอำนาจ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า กฎหมายเพื่อเยียวยาความยากลำบากของประชาชนและชาติ ส่งผลให้ คณะรัฐมนตรีสามารถออกกฎหมายได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ โดยกฎหมายเหล่านี้บางส่วนอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญเสียด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นการยุติบทบาททางการเมืองของสมาชิกวุฒิสภา จากผลของรัฐบัญญัติมอบอำนาจนี้ ทำให้รัฐบาลของฮิตเลอร์เป็นเผด็จการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งทำให้ชาวเยอรมันเรียนรู้จากอดีต และมีความตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้อย่างมากจึงพยายามตรวจสอบและป้องกันการขยายอำนาจของรัฐบาลที่อาจละเมิดสิทธิพลเมืองอยู่เสมอ

ทั้งนี้ การชุมนุมประท้วงกฎหมายป้องกันการแพร่ระบาดของเยอรมนีเกิดขึ้นที่หลายเมืองสำคัญ เช่น ที่เมืองไลป์ซิกและแฟรงค์เฟิร์ต แต่ในการประท้วงครั้งนี้ จบลงด้วยการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจ ส่งผลให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและถูกจับกุม

Financial Times

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน