จีนเผย ประชากรวัยผู้ใหญ่เกินครึ่ง – วันที่ 24 ธ.ค. ซีเอ็นเอ็น รายงานการศึกษาคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีนที่เปิดเผยเมื่อวันพุธที่ 23 ธ.ค. ว่า คนจีนวัยใหญ่เกินครึ่งถือเป็นคนน้ำหนักเกิน และอัตราโรคอ้วนในหมู่คนจีนวัยผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นสองเท่า จาก 7.1% ในปี 2545 เป็น 1.64% ในปี 2563 สะท้อนว่าเมื่อจีนกลายเป็นประเทศร่ำรวยขึ้น รอบเอวของคนวัยผู้ใหญ่ในประเทศขยายด้วย

Yahoo

รายงานระบุว่า 50.7% ของคนจีนวัยผู้ใหญ่มีน้ำหนักเกิน รวมถึงผู้เป็นโรคอ้วน ในประเทศจีนที่มีประชากร 1,400 ล้านคน จะมีคนน้ำหนักเกินมากกว่า 500 ล้านคน มากกว่า ประชากรสหรัฐอเมริกาทั้งประเทศ

ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ในปี 2545 คนจีนวัยผู้ใหญ่ 29.9% มีน้ำหนักเกิน รวมถึงผู้เป็นโรคอ้วน ส่วนในปี 2555 ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 42% ตามรายงานฉบับก่อนหน้าของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจีน

หลี่ ปิน รองผู้อำนวยการคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติของจีน กล่าวเมื่อวันพุธว่า “ประชากรในประเทศของเราเผชิญปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอ้วนอย่างรุนแรง อัตราการมีน้ำหนักเกินและโรคอ้วนของประชากรทั้งในเขตเมืองและชนบทและทุกกลุ่มอายุเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

 

ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงอาหารและพฤติกรรมการกินครั้งใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของประเทศ

ในช่วงทศวรรษที่ 1950 และ 1960 (ปี 2493-2512) ประชาชนจีน 45 ล้านราย เสียชีวิตด้วยความอดอยาก และจนปี 2536 ประชาชนจำเป็นต้องใช้คูปองปันส่วนอาหารที่แจกจ่ายโดยรัฐบาลเพื่อแลกวัตถุดิบบริโภคต่างๆ เช่น ข้าว น้ำมันพืช ไข่ไก่ และเนื้อสัตว์

ช่วงเวลาแห่งการขาดแคลนของจีนกินเวลายาวนาน แต่ตอนนี้คนจีนมีอิสระในการเลือกกินมากขึ้น และความมั่งคั่งของประเทศครั้งใหม่ทำให้คนจีนกินอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการและพลังงานมาก

ทว่าพลังในการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นยังเพิ่มปัญหาขยะจากอาหารเช่นกัน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เคยเรียกปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องน่าตกใจและน่าวิตก กลายเป็นที่มาของร่างกฎหมายป้องกันขยะจากอาหาร ซึ่งเพิ่งถูกส่งไปสภานิติบัญญัติแห่งชาติของจีน เมื่อวันอังคารที่ 22 ธ.ค.

ด้าน จ้าว เหวินหัว หัวหน้านักโภชนาการ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน กล่าวว่า อัตราการมีน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยความชุกสูง ส่งผลกระทบต่อทุกกลุ่มในประชากร นำมาซึ่งความท้าทายต่อสาธารณสุขอย่างมาก

อัตราการมีน้ำหนักเกินและโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้นก่อเกิดภาระสุขภาพของประชาชน การมีน้ำหนักทเกินจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงและปัญหาสุขภาพต่างๆ รวมถึง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ และ หลอดเลือดสมอง ตามข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐ

 

ทั้งนี้ ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ทุกปีคนทั่วโลกจะเสียชีวิตอย่างน้อย 4 ล้านราย จากการมีน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ขณะที่จำนวนผู้ป่วยโรคอ้วนทั่วโลกเพิ่มขึ้นเช่นกัน เกือบสามเท่าตั้งแต่ปี 2528

ในปี 2559 39% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลก หรือมากกว่า 1,900 ล้านคน มีน้ำหนักเกิน ในจำนวนนี้ 650 ล้านคนเป็นโรคอ้วน ส่วนในสหรัฐ ประชากรวัยผู้ใหญ่ 71.6% มีน้ำหนักเกินรวมถึงโรคอ้วน ระหว่างปี 2558-2559

อย่างไรก็ตาม จีนกลับมีการวัดผลเข้มงวดกว่ามาตรฐานระดับโลก องค์การอนามัยโลกพิจารณา ดัชนีมวลกาย (BMI) ซึ่งเป็นอัตราส่วนของน้ำหนักต่อส่วนสูง ว่า ค่า BMI มากกว่า 25 จะเป็นคนมีน้ำหนักเกิน และ ค่ามากกว่า 30 เป็นโรคอ้วน แต่จีนถือว่า ค่า BMI มากกว่า 24 เป็นคนมีน้ำหนักเกิน และ ค่ามากกว่า 28 เป็นโรคอ้วน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

จีนออกโครงการ “จานสะอาด” แก้ปัญหาขยะอาหารเหลือทิ้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน