สหรัฐประหารชีวิต – วันที่ 13 ม.ค. บีบีซี รายงานการประหารชีวิต น.ส.ลิซา มอนต์โกเมรี อายุ 52 ปี นักโทษประหารชีวิตหญิงรายแรกโดยคำสั่งของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในรอบ 67 ปี ในข้อหาฆาตกรรม นางบ็อบบี โจ สตินเนตต์ หญิงตั้งครรภ์ อายุ 23 ปี ด้วยการรัดคอเหยื่อก่อนผ่าท้องและขโมยทารก ปล่อยให้เหยื่อเลือดออกจนเสียชีวิต ในรัฐมิสซูรี เมื่อปี 2547

น.ส.ลิซา มอนต์โกเมรี

น.ส.มอนต์โกเมรีถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดยาตายที่ทัณฑสถานในเมืองเทร์เรโฮต รัฐอินเดียนา ภายหลังที่ทนายความจำเลยขอให้ศาลสูงสุดสหรัฐพักการประหารชีวิตในนาทีสุดท้าย ด้วยข้อโต้แย้งว่า จำเลยป่วยทางจิตและถูกล่วงละเมิดอย่างรุนแรงตั้งแต่วัยเด็ก แต่ถูกศาลยกคำร้อง

สักขีพยานการประหารชีวิตระบุว่า เจ้าหน้าที่ผู้หญิงยืนข้างน.ส.มอนต์โกเมรี ถอดหน้ากากอนามัยของนักโทษ และถามนักโทษว่ามีอะไรสั่งเสียหรือไม่ น.ส.มอนต์โกเมรีตอบว่า “ไม่” และไม่ได้พูดอะไรอีก ต่อมา นักโทษถูกประกาศเสียชีวิตเมื่อ 01.31 น. ตามเวลาท้องถิ่น

นางบ็อบบี โจ สตินเนตต์ เหยื่อผู้ล่วงลับ นายเซ็บ สตินเนนต์ ผู้เป็นสามี และด.ญ.วิกตอเรีย ที่ถูกฆาตกรอำมหิตผ่าท้องแม่และขโมยออกมา

เคลลีย์ เฮนรี ทนายความของน.ส.มอนต์โกเมรี กล่าวว่า ทุกคนที่มีส่วนร่วมในการประหารชีวิต “ควรรู้สึกอับอาย” และระบุในแถลงการณ์ว่า “รัฐบาลสหรัฐไม่พยายามหยุดยั้งที่จะฆ่าผู้หญิงที่เสียหายและหลงผิดคนนี้ การประหารชีวิตน.ส.ลิซา มอนต์โกเมรี อยู่ห่างไกลจากความยุติธรรม”

ก่อนหน้านี้ การประหารชีวิตน.ส.มอนต์โกเมรีถูกเลื่อน 2 ครั้ง ครั้งแรกเนื่องจากโควิด-19 และครั้งที่สองเนื่องจากคำสั่งของผู้พิพากษาในรัฐอินเดียนาเมื่อวันที่ 11 ม.ค. จนกว่าจะมีการพิจารณาสมรรถภาพทางจิตของจำเลย แต่แล้วคำสั่งของศาลสูงสุดปูทางการประหารชีวิตหลังเที่ยงคืนวันที่ 12 ม.ค.

น.ส.มอนต์โกเมรี ทำทีเป็นเพื่อนกับนางโจ สตินเนตต์ ในฐานะคนเลี้ยงสุนัขเหมือนกัน

ทนายความจำเลยโต้แย้งว่า จำเลยเกิดมาพร้อมความเสียหายทางสมอง และป่วยทางจิตเกินกว่าที่จะถูกประหารชีวิต และอ้างคำให้การของครอบครัวจำเลยว่า จำเลยตอนเป็นเด็กถูกละเมิดทางเพศและร่างกายจากพ่อ และถูกแม่นำไปค้ามนุษย์ การปฏิบัติต่อจำเลยรุนแรงมากจนเป็นการทรมาน

ฝ่ายจำเลยเชื่อด้วยว่า ขณะก่ออาชญากรรม น.ส.มอนต์โกเมรีเป็นโรคจิตและห่างไกลจากโลกความเป็นจริง คำพูดของฝ่ายจำเลยได้รับการสนับสนุนจาก 41 นักกฎหมายทั้งอดีตและปัจจุบัน รวมถึงกลุ่มสิทธิมนุษยชน เช่น คณะกรรมาธิการระหว่างอเมริกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Inter-American Commission on Human Rights)

อย่างไรก็ตาม ครอบครัวและเพื่อนของนางสตินเนตต์กล่าวว่า น.ส.มอนต์โกเมรีก่อฆาตกรรมน่ากลัวอย่างมากจนสมควรถูกประหารชีวิต ไม่ว่าสุขภาพจิตของจำเลยจะเป็นอย่างไร

น.ส.มอนต์โกเมรี คนที่สองจากซ้าย หญิงปีศาจในคราบคนรักสุนัข ร่วมเฟรมภาพถ่ายกับนางโจ และนายเซ็พ สตินเนนต์ ที่อยู่ขวาสุด

ทั้งนี้ น.ส.มอนต์โกเมรีสังหารนางสตินเนตต์ หลังทำทีเป็นเพื่อนกับเหยื่อทางออนไลน์ พูดคุยในฐานะคนเลี้ยงสุนัขเหมือนกัน จากนั้น ขับรถมาบ้านเหยื่อ ใช้เชือกรัดคอ และผ่าท้องเพื่อเอาทารกออกจากมดลูกเหยื่อ

ต่อมา ตำรวจพบว่า จำเลยเลี้ยงดูทารกเพศหญิงแรกเกิดที่จำเลยอ้างว่าเพิ่งคลอด 1 วันก่อน แต่ถูกจับพิรุธได้ จึงสารภาพว่าฆ่าหญิงตั้งครรภ์เพื่อเอาทารก และถูกตัดสินมีความผิดดังกล่าวเมื่อปี 2550 วันถัดมา ถูกพิพากษาประหารชีวิต

ตั้งแต่ปี 2551 น.ส.มอนต์โกเมรีถูกจองจำในทัณฑสถานรัฐบาลกลางในรัฐเท็กซัสสำหรับนักโทษหญิงที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งได้รับการดูแลจิตเวช ต่อมา ถูกจองจำในห้องขังเดี่ยวภายใต้การป้องกันการฆ่าตัวตาย หลังทราบวันประหารชีวิต

เคลลีย์ เฮนรี ทนายความจำเลยตั้งแต่ต้น กล่าวว่า ข้อต่อสู้ทางกฎหมายเดิมของจำเลยยังไม่เพียงพอและนำเสนอรายละเอียดบางประการเกี่ยวกับการล่วงละเมิด การบาดเจ็บ และอาการป่วยทางจิตของจำเลย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

สหรัฐลุยประหารนักโทษหญิง “คนแรก” ในรอบ 67 ปี คดีฆ่าสาวท้องแก่-ขโมยทารก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน