ซีอีโอทวิตเตอร์: วันที่ 14 ม.ค. บีบีซี รายงานว่า นายแจ็ค ดอร์ซีย์ ซีอีโอ ทวิตเตอร์ สื่อสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน กล่าวถึงกรณีที่ทวิตเตอร์ระงับบัญชีอย่างถาวรของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ หลังเหตุจลาจลที่รัฐสภา เรียกทั้งเสียงยกย่องและวิพากษ์วิจารณ์

แม้จะเป็นสิ่งถูกต้องแต่รู้สึกเสียใจกับ “สถานการณ์พิเศษและไม่สามารถแก้ไขได้” และเป็นความล้มเหลวส่วนหนึ่งของทวิตเตอร์ด้วย ที่ยังส่งเสริมการสนทนาอย่างสร้างสรรค์ไม่เพียงพอบนแพลตฟอร์มของทวิตเตอร์

นายดอร์ซีย์ทวีตข้อความว่า “ผมไม่เฉลิมฉลองหรือรู้สึกภูมิใจกับการแบน @realDonaldTrump จากทวิตเตอร์หรือการที่เรามาถึงตรงนี้ เราดำเนินการนี้หลังส่งสัญญาณเตือนอย่างชัดเจนแล้ว เราตัดสินใจด้วยข้อมูลที่เรามีว่าเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยทางกายภาพทั้งในและนอกทวิตเตอร์ สิ่งนี่ถูกต้องหรือไม่”

นายดอร์ซีย์ยอมรับด้วยว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะส่งผลต่อการเปิดกว้างและเสรีภาพอินเตอร์เน็ต “การต้องดำเนินการนี้ทำให้การสนทนาแตกเป็นเสี่ยงๆ ทำให้เราแบ่งแยก…และเป็นแบบอย่างที่ผมรู้สึกถึงอันตราย”

ซีอีโอทวิตเตอร์ยังกล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เพียงหยิบมือสามารถตัดสินใจได้ว่า ใครควรมีหรือไม่มีเสียงบนอินเตอร์เน็ต และข้อครหาการเซ็นเซอร์ว่า “บริษัทที่ตัดสินใจดำเนินธุรกิจเพื่อผลประโยชน์ตัวเองแตกต่างจากรัฐบาลที่ระงับการเข้าถึง (สื่อสังคมออนไลน์) เอง แต่ทั้งสองมีความรู้สึกเหมือนกันอย่างมาก”

ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์ สแนปแชต ที่แบนประธานาธิบดีทรัมป์ และ แอมะซอน ที่ปิดเซิร์ฟเวอร์ของ พาร์เลอร์ ช่องทางการสื่อสารของผู้สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์ เป็นการละเมิดสิทธิในบทบัญญัติเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐ นั่นคือ เสรีภาพในการพูด

อย่างไรก็ตาม บรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อ้างความเป็นบริษัทเอกชน ไม่ใช่รัฐบาล กฎหมายข้างต้นจึงนำมาใช้ไม่ได้

ขณะที่ผู้นำโลกอย่าง นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และ ประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ผู้นำเม็กซิโก แม้จะเป็นคู่ปรับของประธานาธิบดีทรัมป์ แต่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับบรรดาบริษัทสื่อสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่

นางแมร์เคิลระบุว่า การแบนสื่อสังคมออนไลน์จะกลายเป็นปัญหา ส่วนประธานาธิบดีอันเดรสกล่าวว่า “ผมไม่อยากให้ใครถูกเซ็นเซอร์ ”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

บริษัทยักษ์ใหญ่ เข้ม แบนกลุ่มใช้ความรุนแรง ไม่ให้มีพื้นที่ในสังคม

ด้าน ว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่าต้องการให้บริษัทสื่อสังคมออนไลน์อย่าง เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ลบคำพูดแสดงความเกลียดชังและข่าวปลอมมากขึ้น

และกล่าวก่อนหน้านี้ว่าต้องการยกเลิกมาตรา 230 ที่เป็นกฎหมายปกป้องไม่ให้บริษัทสื่อสังคมออนไลน์ถูกฟ้องร้องจากโพสต์ต่างๆ ของผู้ใช้งาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน