พลเมืองเมียนมา หวั่นรัฐประหาร พม่าเผชิญภัยคุกคามทางทหาร กองทัพอาจแทรกแซงการเปิดรัฐสภาพลเรือนของเมียนมา โดยกล่าวหาว่ามีการโกงเลือกตั้ง

Reuters

เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2564 สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า สมาชิกรัฐสภาเมียนมามีกำหนดการเข้ารับตำแหน่งและเปิดรัฐสภา ในวันจันทร์ (1 ก.พ.64) อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลพลเรือนและกองทัพกำลังทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากกองทัพยังคงมีอิทธิพลต่อการเมืองเมียนมาอย่างมาก และทำให้พลเรือนเกิดความกลัวว่าจะเกิดการรัฐประหารขึ้น หลังจากกองทัพกล่าวว่าการเลือกตั้งในเมียนมาเป็นการเลือกตั้งที่ฉ้อโกง

กองทัพได้เปิดเผยว่า มีแผนที่จะ ‘ดำเนินการ’ หากการร้องเรียนของกองทัพเกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่ได้รับการยกประเด็นขึ้นมา โดยประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจาก กองทัพเมียนมาพยายามขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง เผยแพร่รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยระบุว่า มีการโกงรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 8,600,000 รายชื่อ ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวของกองทัพเมียนมายังไม่ได้รับการตอบสนอง

Reuters

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมียนมา ได้กล่าวแถลงการณ์ โดยถ้อยแถลงดังกล่าว ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เมียวดี ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของทางการเมียนมา ในวันที่ 28 ม.ค.64 ได้สร้างความหวั่นกลัวเรื่องการรัฐประหารในเมียนมายิ่งขึ้น โดยในวันอังคาร (26 ม.ค.64) ที่ผ่านมา โฆษกกองทัพเมียนมาไม่ปฏิเสธถึงความเป็นไปได้ที่กองทัพจะยึดอำนาจเด็ดขาดเพื่อจัดการกับสิ่งที่กองทัพเรียกว่า ‘วิกฤตทางการเมือง’

ทั้งนี้ในถ้อยแถลงของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ยังระบุว่า “รัฐธรรมนูญเมียนมาปี 2008 (พ.ศ.2551) เป็นกฎหมายแม่บทของทุกกฎหมายที่มีอยู่และควรได้รับความเคารพ แต่ในบางสถานการณ์ ก็อาจมีความจำเป็นที่จะต้องล้มล้างรัฐธรรมนูญ”

Myanmar Times








Advertisement

พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนาง อองซานซูจี ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปที่เสรีและเป็นธรรมครั้งที่ 2 นับตั้งแต่สิ้นสุดการปกครองโดยกองทัพ (โดยตรง) ในปี พ.ศ. 2554 (ทั้งนี้ชาวโรฮิงยาไม่ได้รับสิทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้)

นาง อองซานซูจี ไม่ได้แสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะเกี่ยวกับข้อพิพาทนี้ แต่โฆษกของพรรค NLD ของ นางอองซานซูจี ได้กล่าวว่า สมาชิกได้พบกับผู้นำทางทหารเมื่อวันพฤหัสบดี (28 ม.ค.64) เพื่อเจรจา แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก

Myanmar Times

นอกจากนี้ โฆษกของพรรค NLD ได้ออกมาระบุว่า ข้อกล่าวหาของกองทัพไม่มีมูลความจริง เนื่องจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นไม่เพียงพอที่จะส่งผลทำให้พลิกผลการเลือกตั้งได้ เพราะการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2563 พรรค NLD ของออง ซาน ซู จี ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย โดยพรรค NLD ได้เก้าอี้ในสภาได้มากถึงร้อยละ 83 ขณะที่พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ที่กองทัพสนับสนุนนั้นได้ไปเพียง 33 ที่นั่ง จากเก้าอี้ในรัฐสภาที่มีอยู่ 476 ที่นั่ง

ฝั่งผู้นำทางศาสนาที่มีชื่อเสียงในเมียนมา ดร.คาลัม แซมซัน ผู้นำสหคริสตจักรแบ๊บติสท์แห่งชนกลุ่มน้อยเผ่าคะฉิ่น กล่าวกับวารสารข่าวอิรวดี ว่า “รัฐประหารเป็นคำขมขื่นที่เราไม่อยากได้ยิน และเราพยายามเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ เราทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อบรรลุสันติภาพและเพื่อสร้างระบบสหพันธรัฐที่เป็นประชาธิปไตย”

ขณะที่ ถั่น มินอู นักประวัติศาสตร์และอดีตเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ กล่าวใน ทวิตเตอร์ เมื่อวันพฤหัสบดี (28 ม.ค.64) ว่า “ประเทศกำลังมุ่งหน้าไปสู่วิกฤตรัฐธรรมนูญ ไม่มีใครมั่นใจได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอีกสามวันข้างหน้า สิ่งที่เป็นไปได้ก็คือ เมียนมากำลังเดินเข้าหาวิกฤตรัฐธรรมนูญที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่การยกเลิกรัฐบาลทหารในยุคเก่าในปี ค.ศ. 2010”

โดยผู้นำเยาวชนที่ไม่เปิดเผยนามแห่งพรรค NLD กล่าวว่า “หลายคนมีความหวาดกลัวว่า เมียนมาจะกลับไปสู่การปกครองของทหารอย่างแท้จริงอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าผิดหวังที่เห็นชนชั้นสูงทะเลาะกันเพื่ออำนาจส่วนตน ซึ่งผู้นำทางทหารนั้นร่ำรวยและมีอำนาจมากกว่าคนอื่น ๆ ในสังคม แต่ทั้งหมดนั่นก็ยังไม่เพียงพอสำหรับพวกเขา” ผู้นำเยาวชนกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน