ชาวประมงญี่ปุ่นจับถ่วงน้ำดับ วาฬมิงค์ติดอวน ตอกย้ำช่องโหว่กฎหมายล่าวาฬ

ถอดความจาก รายงาน ของ ฟลอรา ดูรี ผู้สื่อข่าวบีบีซี

 

วิดีโอที่เผยช่วง 20 นาทีสุดท้ายที่ทารุณของชะตากรรม วาฬมิงค์ ในมือของชาวประมงญี่ปุ่น สร้างความสะเทือนใจผ่านสื่อต่างประเทศ แต่เหล่านักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสัตว์บอกว่า วิดีโอดังกล่าวเผยวาฬถูกทำให้จมน้ำอย่างช้าๆ หลังติดอวน เป็นการตอกย้ำช่องโหว่กฎหมายอย่างสิ้นเชิง ที่ใช้ฆ่าวาฬหลายสิบตัวในแต่ละปี

นายมาร์ก ซิมมอนด์ส นักวิทยาศาสตร์ทะเลอาวุโส แห่งองค์การสิทธิสัตว์ สมาคมมนุษยธรรมสากล (Humane Society International: HSI) ออกแถลงการณ์ถึงวิดีโอดังกล่าวว่า นี่ไม่ใช่เหตุการณ์พิเศษหรือเหตุการณ์ไม่คาดคิด แต่เป็นกระบวนการทั้งหมดเหล่านี้ที่มีคนเห็นและบันทึกเพื่อให้ทั่วโลกเห็น”

ที่จริงแล้ว การตายของวาฬมิงค์ตัวนี้เป็นอีกครั้งที่เผยช่องว่างระหว่างญี่ปุ่นและโลกกว้างถึงการล่าวาฬ ซึ่งบรรดานักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสัตว์มองว่าเป็นการตายที่โหดร้ายและสามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่กลุ่มชาวประมงมองว่าเป็นของขวัญจากท้องทะเล

 

ญี่ปุ่น เป็นเช่นเดียวกับชาติอื่นๆ ทั่วโลก ที่มีประเพณีการล่าวาฬมายาวนานหลายร้อยปี และหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เนื้อวาฬกลายเป็นวัตถุดิบหลักบนโต๊ะอาหารญี่ปุ่น ขณะที่ญี่ปุ่นพยายามคงประชากรวาฬไว้

แต่สำหรับกลุ่มผู้สนับสนุนการล่าวาฬ ประเพณีดังกล่าวเป็นมากกว่าอาหารธรรมดาในจาน นั่นคือที่มาของความภาคภูมิใจในชาติ

อย่างไรก็ตาม ชาวประมงไม่ได้รับอนุญาตล่าวาฬนอกชายฝั่งญี่ปุ่นเป็นเวลาอีก 30 ปี โดยรัฐบาลญี่ปุ่นลงนามใน คณะกรรมการการล่าวาฬระหว่างประเทศ (IWC) หลังจับปลามากเกินไปมาหลายสิบปีที่เร่งให้ประชากรวาฬใกล้สูญพันธุ์

ทว่าเมื่อเดือนก.ค.2562 เรือล่าวาฬออกเดินทางอีกครั้ง ทั้งที่ความต้องการเนื้อวาฬจะลดลง หลังญี่ปุ่นกำหนดโควตาอย่างเข้มงวดเพื่อล่าวาฬอย่างรับผิดชอบเป็นปีแรก ทำให้ผู้สนับสนุนการล่าวาฬกล่าวในเวลานั้นว่า รู้สึกโล่งใจที่วัฒนธรรมและวิถีชีวิตจะถูกส่งผ่านคนรุ่นต่อไป

 

ปีแรก (2562) ออกโควตาอนุญาตล่าวาฬทั้งหมด 227 ตัว ในช่วงฤดูล่าวาฬ ได้แก่ วาฬมิงค์ (ไม่ใช่สัตว์ใกล้สูญพันธุ์) 52 ตัว ตลอดจน วาฬบรูด้า 150 ตัว และ วาฬเซย์ 25 ตัว

ส่วนในปี 2563 และ 2564 โควตาเพิ่มเป็น 383 ตัว ซึ่งแบ่งที่มาออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ จากเรือล่าวาฬจากทางการ จากรัฐบาล และ จากการจับสัตว์น้ำแบบพลอยได้ (by-catch) ที่วาฬว่ายเข้ามาผิดเอง

เฉพาะในปี 2564 ชาวประมงชำแหละและขายวาฬมากถึง 37 ตัว จากที่มาจากการจับแบบพลอยได้ รวมถึงวาฬมิงค์ที่ตายและปรากฏในวิดีโอด้วย

 

นายเรน ยาบูกิ หัวหน้า Life Investigation Agency (LIA) องค์กรไม่แสวงหากำไรเพื่อสิทธิสัตว์ญี่ปุ่น เป็นคนแรกที่เห็นวาฬมิงค์ตัวนี้ซึ่งติดอวนนอกเมืองไทจิ ภูมิภาคคันไซ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ปีที่แล้ว ย้อนเหตุการณ์นั้นว่า ตอนแรกหวังว่า ชาวประมงจะยกอวนและปล่อยวาฬมิงค์ออกไป โดยชายประมงคนหนึ่งพยายามทำดังกล่าวอยู่ 10 นาที แต่พวกชาวประมงก็หยุดช่วย

นายยาบูกิสงสัยว่าพวกชาวประมงไม่ต้องการยกอวนออกเนื่องจากภายในอวนมีปลาหลายตัว จึงเป็นที่มาของ 20 วัน ทั้งวิ่งเต้นสมาคมเจ้าของอวนจับสัตว์น้ำเพื่อช่วยกันปล่อยวาฬมิงค์ตัวนั้น และเริ่มอัพโหลดวิดีโอเหตุการณ์ที่เจ้าตัวใช้โดรนบันทึกในแต่ละวัน เพื่อให้คนทั่วโลกเห็นชะตากรรมวาฬมิงค์ที่ดิ้นไปมาและพยายามฝ่าอวนออกไปหลายครั้งอย่างสิ้นหวัง

กลายเป็นพาดหัวไปทั่วโลกและคนเรียกร้องปล่อยวาฬมิงค์ตัวนี้มากขึ้นๆ แต่แล้ว เมื่อวันที่ 11 ม.ค. นายยาบูกิเห็นเรือสองลำขนาบวาฬมิงค์ตัวนั้นทั้งสองข้าง ก่อนจับหางวาฬมิงค์ผูกกับเสาตอม่อบนเรือ ลำหนึ่ง บังคับให้หัววาฬมิงค์อยู่ใต้น้ำเป็นเวลา 20 นาที กระทั่งจมน้ำในที่สุด เรือเต็มไปด้วยเลือดวาฬมิงค์ที่ตายเพราะบาดเจ็บขณะพยายามดิ้นรนเพื่อเป็นอิสระ

หลายวันจากเหตุการณ์วันนั้น มีวิดีโอลับเผยเนื้อวาฬที่บรรจุหีบห่ออย่างดี ขายที่ราคา 398 เยน ต่อน้ำหนัก 100 กรัม ในซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่น แต่นั่นอาจไม่ใช่วาฬมิงค์ตัวเดียวกับที่ตายในเมืองไทจิก็ได้

 

สำหรับผู้สนับสนุนการล่าวาฬ ไม่มีอะไรผิดปกติกับเหตุการณ์วันนั้น นายฮิเดกิ โมโรนูกิ ผู้อำนวยการเจรจาการประมง สำนักการประมงญี่ปุ่น กล่าวว่า คนญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งรู้สึกเห็นใจต่อสัตว์ชนิดนี้ที่ติดอยู่ในแหและต้องการให้มันถูกปล่อยหากเป็นไปได้ แต่ว่า

“ขณะเดียวกัน มีหลายคนถือว่าสัตว์ชนิดนี้เป็นของขวัญจากมหาสมุทรและจะนำมาใช้อย่างเต็มที่อย่างรู้คุณค่า” นายโมโรนูกิกล่าว

สำหรับชาวประมง วาฬที่ติดอวนถือเป็นของแถมจากทะเล จึงจับเอาไว้ เพราะในปัจจุบันปกติไม่มีใบอนุญาตจับและขายวาฬแล้ว แต่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสัตว์บอกว่า นี่คือความล้มเหลวของระบบการกำหนดโควตาล่าวาฬ เนื่องจากไม่เอื้อให้ชาวประมงปล่อยวาฬ

นายซิมมอนด์ส แห่ง HSI ชี้ว่า การจับสัตว์น้ำแบบพลอยได้เกี่ยวข้องกับการจับสัตว์ที่ไม่ต้องการโดยอุบัติเหตุหรือไม่ตั้งใจระหว่างการทำประมง

 

การจับวาฬติดอวนในญี่ปุ่นไม่ใช่การจับแบบพลอยได้ แต่เป็น การจับที่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้และวางแผนอย่างรอบคอบ และ การที่วาฬติดอวนไม่ใช่เป็นเพียงเหตุผลที่วาฬจะต้องตาย

นอกจากนี้ วาฬมิงค์ตัวที่เป็นข่าวแล้ว เรือล่าวาฬลำเดียวกันนั้นจับวาฬอีก 2 ตัว ตัวแรกเป็น วาฬมิงค์ จับได้เมื่อปลายเดือนพ.ย. แต่ปล่อยเป็นอิสระในอีกวันให้หลัง ส่วนวาฬมิงค์ที่ตายเป็นตัวแรกที่สอง และตัวที่สามเป็น วาฬหลังค่อม ถูกพบลอยตายติดอวน ในวันที่ 25 ธ.ค. หรือ 1 วัน หลังวาฬมิงค์ตัวที่สองตาย

ด้านสมาคมการประมงเมืองไทจิออกแถลงการณ์โต้แย้งในเวลานั้นว่า ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องฆ่าวาฬมิงค์ตัวที่สอง เนื่องจาก “กระแสน้ำแรงและยากต่อการปล่อยวาฬมิงค์ตัวนั้น” สอดคล้องกับที่นายโมโรนูกิ ผู้อำนวยการเจรจาการประมง กล่าวว่า สภาพทะเลรุนแรงเกินกว่าจะใช้วิธีอื่นเพื่อฆ่าวาฬมิงค์

“ผมเชื่อว่า สำหรับเหตุผลเหล่านี้ คนญี่ปุ่นถือว่าเป็นวิธีการเป็นจริงและปฏิบัติได้จริงเพียงวิธีเดียว และไม่ได้ใช้อารมณ์และความวุ่นวายใดๆ ในการลงมือ” นายโมโรนูกิกล่าว

 

แต่สำหรับนายยาบูกิ นี่เป็นความโหดร้ายของชะตากรรมสัตว์ที่ต้องตายที่ยังอยู่ “มือของผมด้วยความเสียใจ น่าเศร้ามาก ผมโกรธมาก ผมต้องการช่วยเหลือวาฬเพื่อนำไปปล่อย แต่ทำไม่ได้”

เช่นเดียวกับนายซิมมอนด์สที่บอกว่า การบังคับให้ส่วนหัวของวาฬที่วิวัฒนาการมาใต้น้ำต้องกลั้นหายใจเป็นเวลานานๆ เพื่อให้ออกซิเจนหมดไปอย่างช้าๆ เป็นวิธีการฆ่าที่โหดร้ายอย่างยิ่งจากทุกมาตรฐาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน