นักวิทย์พบฉลาม – วันที่ 3 มี.ค. บีบีซี รายงานว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ค้นพบฉลามน้ำลึก 3 สายพันธุ์ มีคุณสมบัติเรืองแสงในความมืด อาศัยอยู่นอกชายฝั่งนิวซีแลนด์ ซึ่งเก็บเป็นตัวอย่างมาจาก แชธัมไรซ์ (Chatham Rise) พื้นที่ก้นมหาสมุทรทางตะวันออกของนิวซีแลนด์ ในเดือนมกราคมปีที่แล้ว

ประกอบด้วย blackbelly lanternshark, southern lanternshark, kitefin shark โดยฉลามตัวสุดท้ายในปัจจุบันเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังเรืองแสงขนาดใหญ่ที่สุดที่รู้จักกันดีและสามารถมีขนาดใหญ่ได้ถึง 180 ซม.

นักชีววิทยาทางทะเลรู้จักฉลาม 3 สายพันธุ์ เป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มีการระบุปรากฏการณ์ การเรืองแสงทางชีวภาพ (bioluminescence) หรือสิ่งมีชีวิตเปล่งแสงในตัวเอง และเป็นครั้งแรกที่ค้นพบในฉลามขนาดใหญ่กว่า เหมือมกับสัตว์ทะเลจำนวนมาก ตลอดจนแมลงบางตัว เช่น หิ่งห้อย ที่มีคุณสมบัติผลิตแสงได้ด้วยตัวเอง

นักวิจัยชี้ว่า เมื่อแสงแดดส่องลงมาถึง การเรืองแสงใต้ท้องของลูกฉลามจะช่วยในการซ่อนเงา เพื่อไม่ให้สัตว์นักล่าที่อยู่ต่ำลงไปเห็นและเล็งเป้าได้ยากขึ้น ส่วนที่มาของการเรืองแสงเกิดขึ้นจาก โฟโตโฟร์ (เซลล์ผลิตแสง) หลายพันตัวภายในผิวหนังของฉลาม

ฉลาม 3 สายพันธุ์ อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า เขตเมโซเพลิจิก ซึ่งมักเรียกว่า แดนสนธยา มีความลึกตั้งแต่ 200-1,000 เมตร ความลึกสูงสุดที่แสงแดดส่องถึง

จากการศึกษาดังกล่าว ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคาทอลิก เดอ ลูวอง ในเบลเยียม และสถาบันวิจัยน้ำและบรรยากาศแห่งชาติในนิวซีแลนด์อธิบายความสำคัญของการเรืองแสงของสิ่งมีชีวิตในทะเลว่า

“เป็นปรากฏการณ์น่าตื่นเต้นแต่ไม่ธรรมดาในทะเล แต่เมื่อพิจารณาความกว้างใหญ่ของทะเลลึกและการกำเนิดของสิ่งมีชีวิตเรืองแสงในเขตนี้ จึงเห็นได้ชัดมากขึ้นว่า การผลิตแสงที่ระดับความลึกต้องมีบทบาทสำคัญที่จะจัดโครงสร้างระบบนิเวศใหญ่ที่สุดในโลก”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ทีมชาวประมงออสซี่ ลาก “ฉลามเสือ” ขึ้นเรือเล็ก สู้ฟัด 45 นาที น้ำหนัก 400 กก.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน