กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ดำเนินการคว่ำบาตร 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ของกองทัพเมียนมา รวมถึงอายัดทรัพย์สินที่ทหารในกองทัพเมียนมาถือครองในสหรัฐฯ เหตุกองทัพฆ่าประชาชน

REUTERS/Jonathan Ernst/File Photo

เมื่อวันที่ 25 มี.ค.64 สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ดำเนินการคว่ำบาตร 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ของเมียนมา ได้แก่ Myanmar Economic Corporation (MEC) และ Myanmar Economic Holdings Ltd (MEHL) ซึ่งบริษัททั้ง 2 แห่งนี้ ถูกบริหารโดยกองทัพเมียนมา ซึ่งทหารเหล่านี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 64 และการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง ทั้งนี้สหรัฐฯยังได้ดำเนินการอายัดทรัพย์สินใด ๆ ที่ทหารในกองทัพเมียนมาถือครองในสหรัฐอเมริกา โดยอาจมีผลเร็วที่สุดในวันพฤหัสบดี (25 มี.ค.64)

REUTERS/Soe Zeya Tun/File Photo

พลเอกมิน อ่อง หล่าย ทำการรัฐประหาร ในวันแรกของรัฐสภา (1 ก.พ.64) โดยกักขังนักการเมืองพลเรือนจำนวนมาก รวมถึง ออง ซาน ซู จี ซึ่งพรรคของเธอชนะการเลือกตั้งในเดือนพ.ย. 63 โดยกองทัพเมียนมาอ้างว่ามีการฉ้อโกงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยการรัฐประหาร จุดชนวนให้เกิดการลุกฮือของประชาชนอย่างกว้างขวางไปทั่วประเทศ ทำให้กองกำลังความมั่นคงตอบโต้ประชาชนด้วยความรุนแรง ปัจจุบันมีการสังหารผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 275 คน

REUTERS/Stringer/File Photo

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้สั่งการต่อฝ่ายบริหารในวันที่ 11 ก.พ. ให้มีมาตรการคว่ำบาตรต่อกองทัพเมียนมาและผลประโยชน์ที่กองทัพต้องการ คำสั่งดังกล่าวมีขึ้นเพื่อระงับไม่ให้กองทัพเมียนมา ที่ดำเนินการผ่านธนาคารกลางเมียนมา สามารถเคลื่อนย้ายเงินทุนสำรองที่ฝากอยู่ในธนาคารสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐออกไปได้

Picture taken March 20, 2021. REUTERS/Stringer

สหรัฐอเมริกาและอังกฤษรวมถึงสหภาพยุโรปและแคนาดา ได้ออกมาตรการคว่ำบาตร ต่อนายพลระดับสูงของกองทัพเมียนมาไปแล้ว ซึ่งรวมถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุด มิน อ่อง หล่าย และสมาชิกในครอบครัวของผู้นำในกองทัพเมียนมา ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยังได้ประกาศขึ้นบัญชีดำกับบริษัทค้าอัญมณีและหยกอีก 3 แห่ง ซึ่งมีกองทัพเป็นเจ้าของหรือถูกควบคุมโดยกองทัพเมียนมา โดยแถลงการณ์ของกระทรวงการคลังสหรัฐ ระบุว่า การคว่ำบาตรครั้งนี้พุ่งเป้าไปที่ผู้ที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งของเมียนมา แต่ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ประชาชนชาวแต่อย่างใด

REUTERS/Ajeng Dinar Ulfiana

กองทัพเมียนมาควบคุมเศรษฐกิจใหญ่ในประเทศ ผ่านการบริหารบริษัทในเครือ Myanmar Economic Corporation (MEC) และ Myanmar Economic Holdings Ltd (MEHL) โดยครอบคลุมธุรกิจแทบทุกประเภท ตั้งแต่เบียร์และบุหรี่ไปจนถึงโทรคมนาคม ยางรถยนต์ การขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติ เหมืองแร่ และ อสังหาริมทรัพย์

นักเคลื่อนไหวในเมียนมา พยายามเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรในหลากหลายทาง เพื่อให้กองทัพขาดรายได้ และต้องการให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ดำเนินการคว่ำบาตรต่อไป โดยเฉพาะการคว่ำบาตรในโครงการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศเมียนมา

REUTERS/Ajeng Dinar Ulfiana

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน