ทัวร์ลงแบรนด์เสื้อผ้าตะวันตก จีนกริ้วจัดจนท.เอี่ยวละเมิดอุยกูร์ถูกคว่ำบาตร

ทัวร์ลงแบรนด์เสื้อผ้าตะวันตก – วันที่ 25 มี.ค. เอพีรายงานว่า ทางการจีนเริ่มสร้างกระแสโจมตีแบรนด์เนมเสื้อผ้าจากชาติตะวันตกภายในประเทศ เพื่อตอบโต้กรณีที่บรรดาชาติตะวันตกร่วมกันใช้มาตรการคว่ำบาตรลงโทษเจ้าหน้าที่ของทางการจีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเกียง

การตอบโตเริ่มขึ้นจาก “สันนิบาตยุวคอมมิวนิสต์” (CYLC) ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวภาคสังคมของกลุ่มวัยรุ่นจนถึงคนหนุ่มสาวอายุตั้งแต่ 14-28 ปี ภายใต้การบริหารจัดการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) เริ่มรณรงค์ต่อต้านแบรนด์เนมเสื้อผ้าจากชาติตะวันตกบนโลกออนไลน์

ทัวร์ลงแบรนด์เสื้อผ้าตะวันตก

CYLC เริ่มจากการนำแถลงการณ์ของแบรนด์ H&M สัญชาติสวีเดน เมื่อเดือนมี.ค. 2563 มาเผยแพร่ซ้ำ มีใจความว่า H&M จะยุติการซื้อฝ้ายจากมณฑลซินเกียง เนื่องจากความกังวลข้อครหาว่ามีการบังคับใช้แรงงานในพื้นที่ดังกล่าว

ความเคลื่อนไหวของ H&M เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแบรนด์ดังอื่นๆ จากชาติตะวันตก อาทิ Burberry, Adidas, Nike, New Balance และ Zara ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทางโกลบอล ไทมส์ กระบอกเสียงของ CCP ระบุว่า เป็นการกระทำที่เชือดเฉือนจิตใจชาวจีน

กระแสดังกล่าวส่งผลให้ หวัง อี้ป๋อ ดารานักร้องนักแสดงหนุ่มชื่อดังสัญชาติจีนประกาศยุติข้อตกลงร่วมงานกันกับ H&M และ Nike ด้วย

รายงานระบุว่า ทางการจีนมักใช้วิธีการโจมตีแบรนด์ดังจากต่างชาติจากหลายวงการ อาทิ สิ่งทอ และอุตสาหรรมรถยนต์ เพื่อตอบโต้มาตรการจากรัฐบาลชาติต่างๆ หรือใช้วิธีการกดดันเอกชนต่างชาติให้ยอมรับจุดยืนทางการเมือง เช่น กรณีไต้หวันว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีน

ทัวร์ลงแบรนด์เสื้อผ้าตะวันตก

ที่ผ่านมา การบีบบังคับดังกล่าวนั้นส่งผลให้บรรดาเอกชนต่างชาติหลายแห่งต้องออกแถลงการณ์ขอโทษ หรือยอมเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองให้สอดคล้องกับ CCP เพื่อแลกกับการเข้าถึงตลาดผู้บริโภคชาวจีน ซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงขนาดใหญ่ที่สุดของโลกในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม กรณีข้อครหาที่จีนละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมอุยกูร์อย่างร้ายแรงจากชาติตะวันตกทำให้บรรดาเอกชนเหล่านี้เผชิญกับแรงกดดันจากทางรัฐบาลของชาติตัวเองด้วยที่ต้องการให้ตีตัวออกห่าง เพื่อบีบคั้นให้ทางการจีนยุติการการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิฯ

ข้อครหาดังกล่าว ระบุถึงการที่มีผู้คนกว่า 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมอุยกูร์ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในมณฑลซินเกียง ถูกควบคุมตัวไปบังคับใช้แรงงานในค่ายที่ชาติตะวันตกมองว่าเป็นค่ายกักกัน

ทว่า ทางการจีนปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ ว่าไม่ได้นำตัวไปทรมาน หรือละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นเพียงการฝึกทักษะวิชาชีพและพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาแนวคิดสุดโต่งในพื้นที่

อย่างไรก็ดี ทางการอียู สหรัฐฯ อังกฤษ และแคนาดา รวมทั้งหมด 27 ชาติ ประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการจีน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีข้างต้น สร้างความเดือดดาลให้ทางการจีนที่ประกาศจะตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรบรรดาสมาชิกสภาฯ ของอียู และนักวิชาการชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นผู้ทำรายงานนำไปสู่ข้อครหาการละเมิดสิทธิฯ ที่เกิดขึ้นในซินเกียง

ขณะที่บรรดาบทสัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการจีนตามสื่อท้องถิ่นนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือการตัดพ้อว่าชาวจีนถูกแทงข้างหลัง อาทิ “H&M จะมากินบนเรือน ขี้บนหลังคาแบบนี้ได้อย่างไร”

ด้าน H&M Group ออกแถลงการณ์ยืนยันเคารพผู้บริโภคชาวจีน และว่า บริษัทไม่ได้เป็นตัวแทนของแนวคิดทางการเมืองใด พร้อมอธิบายปัจจุบันนั้นมีข้อตกลงการค้ากับผู้ผลิตของจีนถึง 350 แห่ง เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพได้ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ของรัฐบาลจีน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน