โควิด: ไบเดนหนุนเปิดช่ององค์ความรู้วัคซีนตัวท็อป หุ้นบริษัทยามะกันวูบ-รุมค้านเสียงหลง นักสิทธิฯแห่ชื่นชมเทียบผู้นำโลก

โควิด – วันที่ 6 พ.ค. นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แถลงแสดงจุดยืนสนับสนุนการระงับสถานะสิทธิบัตรองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 เพื่อเปิดทางให้กับนานาประเทศนำไปใช้เพื่อเพิ่มกำลังผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงให้ประชาคมโลก

ท่าทีดังกล่าวเป็นการยูเทิร์นทางด้านโยบายของทางการสหรัฐฯ จากยุคของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งสหรัฐฯนั้นเป็นชาติแกนหลักที่ต่อต้านเรื่องดังกล่าวในองค์การการค้าระหว่างประเทศ (WTO) ที่เคยถูกเสนอโดยประเทศอินเดีย และแอฟริกาใต้

นางแคเธอรีน ไท่ ผู้แทน เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำองค์การการค้าโลก กล่าวว่า “วิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนั้นเป็นวิกฤตระดับโลก สถานการณ์ที่สุดขั้วนี้จำเป็นต้องใช้มาตรการที่สุดขั้วเพื่อรับมือเช่นกัน”

“รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดนี้ เชื่อมั่นในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา แต่เพื่อการแก้ไขที่นำไปสู่การยุติสถานการณ์ระบาดใหญ่ในโลก ทางการสหรัฐฯ ขอสนับสนุนการระงับสถานะสิทธิบัตรองค์ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19” ไท่ ระบุ

อย่างไรก็ดี การยื่นขอระงับกลไกทางด้านสิทธิบัตรชั่วคราวนั้นจำเป็นต้องได้เสียงสนับสนุนจากทุกฝ่ายอย่างเป็นเอกฉันท์ และทางการสหรัฐฯ จะต้องเผชิญหน้ากับสหภาพยุโรป หรืออียู ซึ่งเคยมีจุดยืนคัดค้านญัตติดังกล่าว

นอกจากนี้ ทางการสหรัฐฯ ยังต้องเผชิญกับเสียงคัดค้านจากอุตสาหกรรมยาของสหรัฐฯ ซึ่งกล่าวตอบโต้รัฐบาลสหรัฐอย่างเดือดดาล ว่าเป็นพัฒนาการแบบสุดขั้วซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อความพยายามของเอกชนอเมริกันในการช่วยยุติสถานการณ์ระบาดใหญ่ทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของวัคซีน

นายสตีเฟ่น เจ. อูเบล ประธานและรองประธานฝ่ายบริหารสมาคมผู้ผลิตและพัฒนายาแห่งสหรัฐฯ กล่าวว่า “การตัดสินใจจะสร้างความสับสนให้กับทั้งเอกชนและพาร์ตเนอร์ ทำให้ซัพพลายเชนมีความอ่อนไหวมากขึ้น และส่งเสริมให้มีการผลิตวัคซีนปลอม

นอกจากนี้ นายอูเบล ยังกล่าวโจมตีว่า เท่ากับเป็นการนำนวัตกรรมของชาวอเมริกันใส่พานถวายให้กับบรรชาติคู่แข่งที่กำลังต้องการบ่อนทำลายความเป็นผู้นำด้านการค้นพบของสหรัฐฯด้วย พร้อมถามกลับว่า “แล้วแบบนี้ครั้งต่อไป ใครเค้าจะอยากพัฒนาวัคซีนล่ะครับ”

ด้านบรรดานักสิทธิมนุษยชนทางด้านสุขภาพต่างแสดงความยินดีกับท่าทีของประธานาธิบดีไบเดน โดยชื่นชมว่าเป็นอีกหน้าของประวัติศาสตร์ และความกล้าหาญของนายไบเดน ไม่ใช่เพียงในฐานะผู้นำสหรัฐฯ แต่ในฐานะผู้นำของประชาคมโลก

อย่างไรก็ตาม บรรดานักสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ประธานาธิบดีไบเดน เร่งจัดการให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้ผลิตทั่วโลก เพื่อนำไปสู่การเพิ่มกำลังผลิตวัคซีน ไม่ใช่จำกัดอยู่เพียงเอกชนรายที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรเท่านั้น

การแสดงท่าทีดังกล่าวของรัฐบาลสหรัฐฯ ยังส่งผลให้หุ้นของบริษัทผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 หลายแห่งปรับตัวลดลงด้วย อาทิ โมเดอร์นา ไบโอเอ็นเทค และโนวาแว็กซ์

แพทย์หญิงมิเชล แม็กเมอร์รี-ฮีธ ประธานและรองประธานฝ่ายบริหารแผนกนวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ จากไฟเซอร์ ระบุว่า วัคซีนของไฟเซอร์นั้นต้องใช้สารตั้งต้นถึง 280 ชนิด จากซัพพลายเออร์ 86 แห่ง ใน 19 ประเทศ รวมถึงอุปกรณ์ผลิตที่มีความจำเพาะสูงมาก

“การนำเมนูทำวัคซีนไปมอบให้ประเทศที่กำลังต้องการวัคซีนโดยที่ไม่มีวัตถุดิบอะไรเลย มันไม่ได้ช่วยให้คนที่กำลังรอวัคซีนได้วัคซีนขึ้นมาหรอกค่ะ” และว่า “ยกตัวอย่างถ้าเอาพิมพ์เขียวห้องครัวไปให้ ก็คงต้องใช้เวลาเป็นปีในการสร้าง นั่นคือในช่วงเวลาปกตินะ แล้วมันก็ไม่ได้ช่วยหยุดยั้งพวกสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่กำลังมีออกมาได้ด้วย” พญ.ฮีธ ระบุ

ขณะที่ศาสตราจารย์เครก กาธเวท ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ สำนักวิชาบริหารจัดการ มหาวิทยาลัยนอร์ธ เวสเทิร์น ซิตี้ แสดงความกังวลว่า กรณีที่เกิดขึ้นอาจเป็นการสร้างบรรทัดฐานการทำให้ความเคารพต่อสิทธิบัตรสั่นคลอน เช่นว่า หากมีความจำเป็นยิ่งยวดในการระบาดใหญ่ก็สามารถระงับสิทธิบัตรทางการแพทย์ได้เพื่อเปิดทางไปสู่การแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้น เป็นต้น

“วัคซีนที่เอกชนในสหรัฐฯ ผลิตนั้นมีความซับซ้อนอย่างมากครับ มันไม่ได้ง่ายเหมือนเมนูปรุงชีสเค้กที่แค่เปิดอ่านก็ทำตามได้ 1 2 3 แล้วก็จะได้ชีสเค้กคุณภาพออกมาได้เหมือนกัน ยังต้องให้โมเดอร์นา หรือไฟเซอร์ เค้าคอยช่วยเหมือนเดิมน่ะแหละ” ศ.กาธเวท ระบุ

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีไบเดน กำลังเผชิญกับแรงกดดันทั้งจากในและนอกประเทศ หลังเคยประกาศไว้ในการหาเสียงเลือกตั้งว่าจะไม่ยอมปล่อยให้สิทธิบัตรเป็นอุปสรรคของประชาคมโลกในการผลิตวัคซีน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน