โควิด: เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. เอพี รายงานว่า สหภาพแพทย์แห่งประเทศอังกฤษเรียกร้องให้ทางรัฐบาลพิจารณาเลื่อนกำหนดการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ หลังข้อมูลบ่งชี้ถึงภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดมาเมื่อปลายเดือนก.พ. สืบเนื่องมาจากไวรัสชนิดกลายพันธุ์ที่พบในอินเดีย หรือเดลต้า

 

เสียงเรียกร้องดังกล่าวเกิดขึ้นหลังอังกฤษพบผู้ติดเชื้อใหม่ถึง 8,125 คน ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสถิติสูงที่สุดนับตั้งแต่ 26 ก.พ. และค่าเฉลี่ยผู้ติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ในระยะเวลาเพียงเดือนเดียว

ไวรัสก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า (บี.1.617.2) มีความสามารถในการระบาดมากขึ้นร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับชนิดกลายพันธุ์ในอังกฤษ หรืออัลฟ่า (บี.1.1.7) และการติดเชื้อใหม่ร้อยละ 90 ในอังกฤษขณะนี้เป็นสายพันธุ์เดลต้าทั้งหมด นำไปสู่เสียงเรียกร้องจากผู้เชี่ยวชาญต่อนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรี ให้เลื่อนการผ่อนปรนล็อกดาวน์วันที่ 21 มิ.ย. ออกไปก่อน

ความเคลื่อนไหวของสหภาพแพทย์เกิดขึ้นหลังสมาคมการแพทย์แห่งอังกฤษ (บีเอ็มเอ) เรียกร้องในลักษณะเดียวกัน โดยระบุว่าเป็นการเลื่อนที่สมเหตุสมผลเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้มากขึ้นทั้งเข็มแรก และเข็มที่สอง โดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาวที่เป็นกลุ่มหลักในผู้ติดเชื้อใหม่ขณะนี้

“การป้องกันไม่ใช่แต่ต้องทำเฉพาะการลดจำนวนผู้ป่วยที่เข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่เป็นการลดความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้มีอายุน้อยด้วย เพราะมีโอกาสที่จะป่วยรุนแรง และเกิดอาการผิดปกติยาวนาน กระทบต่อการใช้ชีวิตและการทำงาน” บีเอ็มเอ ระบุ

 

ด้านการประชุมชาติอุตสาหกรรมจี 7 ที่เมืองคอร์นวอลล์ ของอังกฤษ มีมติดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้การระบาดใหญ่แบบโรคโควิด-19 เกิดขึ้นอีก ภายใต้ปฏิญญาคาร์บิสเบย์ เช่น การลดขั้นตอนการพัฒนา ขึ้นทะเบียน วัคซีน กระบวนการรักษา และการตรวจวิเคราะห์ลงเหลือไม่เกิน 100 วัน

การสร้างเสริมระบบเฝ้าระวังการระบาดระดับโลกและการตรวจวิเคราะห์จีโนมให้แข็งแกร่งขึ้น รวมถึงการสนับสนุนการปฏิรูปครั้งใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO)

นอกจากนี้ นายจอห์นสัน ยังระบุว่าทางการอังกฤษจะบริจาควัคซีนให้กับชาติยากจน 100 ล้านโดส ภายในปีหน้า หลังประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา เตรียมบริจาควัคซีน 500 ล้านโดส ผ่านโครงการโคแว็กซ์ของ WHO

อย่างไรก็ดี WHO คาดไว้ว่า จะต้องใช้วัคซีนถึง 1.1 หมื่นล้านโดส ในการฉีดให้ประชากรโลกร้อยละ 70 จึงจะเริ่มเห็นผลกระทบต่อการลดลงของการระบาดที่กำลังเกิดขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน