การศึกษาพบ – วันที่ 29 มิ.ย. ซีเอ็นเอ็น รายงานการประเมินผลการศึกษาการลงโทษทางร่างกายเด็กจำนวน 69 ชิ้น จากสหรัฐอเมริกา แคนาดา จีน โคลอมเบีย กรีซ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี และอังกฤษ ว่าไม่ได้ช่วยปรับปรุงพฤติกรรมเชิงบวก หรือสมรรถภาพทางสังคมของเด็กเมื่อเวลาผ่านไป

การประเมินดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ แลนเซ็ต เมื่อวันจันทร์ที่ 28 มิ.ย. ซึ่งเอลิซาเบธ เกอร์ชอฟฟ์ ศาสตราจารย์การพัฒนามนุษย์และวิทยาศาสตร์ครอบครัว มหาวิทยาลัยเท็กซัส ในเมืองออสติน ผู้นำการประเมิน กล่าวว่า พบว่าการลงโทษทางร่างกาย เช่น การตีก้น “เป็นอันตรายต่อพัฒนาการและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็ก”

“พ่อแม่ตีลูกเพราะคิดว่าจะช่วยปรับปรุงพฤติกรรม แต่น่าเสียดายสำหรับพ่อแม่ที่ตีลูก การวิจัยของเราพบหลักฐานชัดเจนและแน่นหนาว่า การลงโทษทางร่างกายไม่ได้ช่วยปรับปรุงพฤติกรรมเด็ก แต่ทำให้พฤติกรรมแย่ลงแทน”

เด็กแสดงออกมากขึ้นหลังถูกลงโทษ

การประเมินดังกล่าวไม่รวมการลงโทษด้วยวาจา และการลงโทษทางร่างกายแบบรุนแรงที่จะมีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดเด็กด้วย เนื่องจากวัดเฉพาะผลกระทบจากการตีก้นและการลงโทษทางร่างกายอื่นๆ ที่พ่อแม่มักจะเลือกใช้เพื่อสั่งสอนลูก เช่น ใช้วัตถุตีเด็ก, ตีหรือตบหน้า ศีรษะ หรือหู, ขว้างสิ่งของใส่เด็ก, ทุบตี, ทุบ ต่อย เตะ, ใช้สบู่ล้างปากเด็ก, ทุ่มลงกับพื้น, ทำให้สำลัก, จุดไฟลน, ใช้น้ำร้อนลวก และขู่ด้วยมีดหรือปืน

การศึกษาบางส่วนในการประเมินพบผลลัพธ์หลากหลาย เห็นผลลัพธ์ด้านบวกและลบที่เกี่ยวข้องกับการลงโทษทางร่างกาย แต่การศึกษาส่วนใหญ่แล้วเผยผลกระทบด้านลบอย่างมีนัยสำคัญในหลายรูปแบบ

ศ.เกอร์ชอฟฟ์กล่าวว่า การสนับสนุนตรงกันมากที่สุดจากการศึกษาอิสระจำนวน 13 ชิ้น จาก 19 ชิ้น คือว่า การตีก้นและการลงโทษทางร่างกายเด็กแบบอื่นๆ สร้างพฤติกรรมที่เป็นปัญหาภายนอกมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เช่น “ก้าวร้าวเพิ่มขึ้น พฤติกรรมต่อต้านสังคมเพิ่มขึ้น และพฤติกรรมก่อกวนในโรงเรียนเพิ่มขึ้น” โดยไม่คำนึงถึงเพศ เชื้อชาติ หรือเผ่าพันธุ์ของเด็ก

ขณะที่การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งในโคลอมเบีย ประเทศในอเมริกาใต้ พบว่า เด็กเล็กที่ถูกลงโทษทางร่างกายจะได้รับ “ทักษะการรู้คิด” (Cognitive skills) น้อยกว่าคนที่ไม่ถูกลงโทษทางร่างกาย

Vintage image of man paddling boy

ส่วนการศึกษา 7 ชิ้น ของศ.เกอร์สชอฟฟ์และทีมงาน ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างความถี่ของการลงโทษทางร่างกายกับพฤติกรรมด้านลบของเด็กในช่วงเวลาหนึ่ง โดย 5 ใน 7 คน พบผลลัพธ์ตอบสนองต่อจำนวนครั้ง หรืออีกนัยหนึ่ง เมื่อลงโทษทางร่างกายเพิ่มขึ้น แนวโน้มที่จะทำนายว่า ผลลัพธ์จะออกมาแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไปนั้น จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน

การศึกษาบางชิ้นในการประเมินของศ.เกอร์สชอฟฟ์พบว่า การลงโทษทางร่างกายเพิ่มปัญหาพฤติกรรมและสัญญาณของโรคดื้อต่อต้าน (Oppositional defiant disorder) ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคืออารมณ์ฉุนเฉียว พฤติกรรมโต้แย้งและท้าทาย ดื้ออย่างแข็งกร้าวและปฏิเสธทำตามกฎ อาฆาตและพยาบาท

Boy Getting Spanked by Mother (Photo by Library of Congress/Corbis/VCG via Getty Images)

อีกผลลัพธ์หนึ่งคือเพิ่มความเสี่ยงที่เด็กจะประสบความรุนแรงหรือการถูกละเลยอย่างหนักที่อาจถึงขั้นที่หน่วยงานคุ้มครองเด็กต้องเข้ามาจัดการ

สุดท้ายแล้ว การประเมินพบว่า ผลกระทบด้านลบของเด็กจากการลงโทษทางร่างกาย รูปแบบการเลี้ยงดูของพ่อแม่ไม่อาจช่วยบรรเทาได้ โดยการศึกษา 4 ใน 5 ชิ้นพบว่า รูปแบบการเลี้ยงดูโดยรวมที่มีความอบอุ่นและด้านบวก ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาพฤติกรรมที่เพิ่มขึ้นลดลงได้ จากผลกระทบของการลงโทษทางร่างกาย

ทั่วโลกยังตีก้นได้

กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ เปิดเผยข้อมูลถึงปี 2560 ว่า เด็กอายุ 2-4 ขวบ จำนวน 63% หรือ 250 ล้านคนทั่วโลก อาศัยอยู่ในประเทศที่อนุญาตให้พ่อแม่ตีก้นและลงโทษทางร่างกายเป็นประจำ

ส่วนข้อมูล ความร่วมมือระดับโลกเพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “เป้าหมายการพัฒนายั่งยืน” (Sustainable development goals: SDGs) ของสหประชาชาติ ระบุว่า ทั่วโลก 62 ประเทศ ห้ามลงโทษร่างกายเด็กในทุกกรณี และอีก 27 ประเทศ ให้คำมั่นที่จะดำเนินการห้ามลงโทษทางร่างกายเด็ก

อย่างไรก็ตาม เด็กเพียง 13% ทั่วโลก ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเต็มที่จากการลงโทษทางร่างกาย และ 31 ประเทศยังคงอนุญาตให้พ่อแม่เฆี่ยนตี โบย และเฆี่ยน เป็นบทลงโทษเยาวชนที่ก่ออาชญากรรมด้วย

ทั้งนี้ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติปี 2549 ระบุว่า เด็กมีสิทธิได้รับเสรีภาพและการคุ้มครองจาก “การลงโทษทางร่างกายและรูปแบบการลงโทษโหดร้ายหรือย่ำยีศักดิ์ศรีอื่นๆ” และสมัชชาใหญ่สหประชาชาตินำมาเป็นส่วนหนึ่งของ SDGs ด้วย

“ด้วยการลงโทษทางร่างกายแพร่หลายทั่วโลก ไม่มีเวลาให้เสียเปล่า ทุกประเทศควรเอาใจใส่การเรียกร้องของสหประชาชาติที่จะรักษาสิทธิมนุษยชนของเด็กและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยการห้ามลงโทษทางร่างกายในทุกรูปแบบและทุกกรณี” ศ.เกอร์ชอฟฟ์และทีมงานระบุ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน